ล่าสุดที่บ่อขยะแพรกษาปากน้ำ ชี้เกิดซ้ำเกิดซากเฉพาะปีนี้แค่ต้นปีเกิดแล้วกว่า 20 แห่ง ระบุการศึกษาพบไฟลุกเองได้จากการทับถมก่อความร้อนเกิน 55 องศาขึ้นไป ก่อฝุ่นพิษ กลิ่น ควัน สารก่อมะเร็งต่อปชช. แนะองค์กรท้องถิ่น ต้องดูแลเฝ้าระวังเตรียมพร้อมอุปกรณ์ดับไฟ ให้หมั่นพลิกกองขยะ ฉีดน้ำพ่นฝอยช่วงร้อนจัด
เมื่อวันที่ 11 มี.ค.65 นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ "ไฟไหม้บ่อขยะซ้ำซากในช่วงฤดูร้อน เป็นบทเรียนที่ไม่เคยได้รับการแก้ไข.. ไฟไหม้เกิดขึ้นได้อย่างไร และแนวทางการเฝ้าระวังให้ปลอดภัย
1.กรณีเพลิงไหม้บ่อขยะแพรกษาใหม่ในพื้นที่ 320 ไร่ ที่ซอยขจรวิทย์ ต.แพรกษาใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ขยะสะสมอยู่เกือบ 10 ล้านตัน เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ถือว่าเป็นบทเรียนที่รัฐต้องพึงเฝ้าระวังการเกิดไฟไหม้กองขยะในช่วงฤดูร้อนที่จะมาถึงนี้
2.ช่วงฤดูร้อนในเดือนมีนาคม เมษายน และเดือนพฤษภาคม ของทุกปีจะเกิดไฟไหม้บ่อขยะจำนวนมากที่ผ่านในปีนี้เกิดขึ้นแล้วไม่ต่ำกว่า 20 แห่ง..ปี 2564 มีปริมาณขยะมูลฝอยเกิดขึ้นในประเทศไทยประมาณ 25.37 ล้านตัน มีการจัดการในรูปแบบต่างๆแต่ใช้วิธีการการเทกอง (open dump) เป็นภูเขาอยู่ไม่ต่ำกว่า 1,767 แห่ง ซึ่งเป็นที่มาของเหตุรำคาญที่อันตรายต่อสุขภาพและอาจก่อให้เกิดไฟไหม้ได้ในช่วงฤดูร้อนของทุกปี
3.จากการศึกษาพบว่าจะเกิดการลุกติดไฟได้เองของกองขยะชุมชน (Spontaneous combustion) เนื่องจากทุกแห่งมีขยะที่สามารถติดไฟอยู่เป็นจำนวนมากเช่น เศษผ้า เศษพลาสติก ไม้ กระป๋อง สเปรย์ ไอระเหยสารอินทรีย์ เป็นต้น รวมทั้งมีปริมาณสารอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้เป็นจำนวนมาก เช่น ผัก ผลไม้ เศษอาหาร เป็นต้น เมื่อถูกฝังกลบเป็นกองภูเขา สารอินทรีย์เหล่านี้ที่ถูกฝังลึกลงไปจากผิวหน้ามากกว่า 42 เซนติเมตรขึ้นไป จะเกิดการย่อยสลายแบบไร้ออกซิเจน (anaerobic condition) หากมากกว่า 10 วันจะก่อให้เกิดก๊าซมีเทน, ก๊าซไข่เน่า ก๊าซแอมโมเนีย และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งเกิดปฎิกริยาคายความร้อนออกมาตั้งแต่ 25-55 องศา กลายเป็น hot spot เป็นหย่อมๆ ใต้กองขยะ และจุดใดมีความร้อนความร้อนตั้งแต่ 55 องศาขึ้นไป มีโอกาสที่ทำให้เกิดไฟลุกได้ หากภายในกองขยะมีก๊าซออกซิเจนเหลือร้อยละ 1-10 ของอากาศ (10% by volume oxygen) + อุณภูมิ 55 องศาในกองขยะ (ความร้อนมาจากอากาศที่ร้อนและปฎิกิริยาคายความร้อนจากการย่อยสลายสารอินทรีย์ในภาวะไร้ออกซิเจน)+ก๊าซมีเทนและเชื้อเพลิงที่ติดไฟ จะมีโอกาสทำให้ขยะกองนี้ลุกติดไฟได้เอง (self-heating and ignition) นำมาสู่การเกิดฝุ่นละออง 2.5, เหตุรำคาญ กลิ่น ควัน,สารไดออกซิน และฟูแรน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน
4.การลุกติดไฟได้เองของกองขยะพบว่าไม่ได้มีสาเหตุมาจากก๊าซมีเทนโดยตรง เนื่องจากก๊าซมีเทนจะติดไฟได้เองเมื่อมีอุณหภูมิมากกว่า 500 องศา แต่ก๊าซมีเทนจะมีผลทำให้ไฟไหม้กองขยะรุนแรงมากขึ้นหลังจากกองขยะติดไฟแล้ว นอกจากนี้ สาเหตุที่ไฟไหม้กองขยะที่สำคัญมาจากการที่คนเอาเชื้อไฟไปใส่กองขยะอีกด้วย
5.ในช่วงฤดูร้อนนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล จะต้องเตรียมการและเฝ้าระวังการเกิดไฟไหม้กองขยะโดยต้องเตรียมอุปกรณ์ดับเพลิงไว้ในพื้นที่ และดูแลไม่ให้บุคคลภายนอกจุดไฟใส่กองขยะ เป็นต้น การป้องการลุกติดไฟได้เองคือ ต้องหมั่นพลิกกลับไปมากองขยะอย่างสม่ำเสอ, การฉีดพ่นน้ำเป็นฝอยเหนือกองขยะในช่วงอากาศร้อนจัด,นำขยะที่ที่เป็นแหล่งเชื้อเพลิง เช่น เศษผ้า, พลาสติก, ไม้ เป็นต้น กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ให้มากที่สุด นอกจากนี้ ควรจัดเวรยามเฝ้าระวังการทิ้งก้นบุหรี่หรือการทิ้งเชื้อเพลิงลงในกองขยะอย่างเข้มงวดด้วยและเตรียมถังสารเคมีแห้งสำหรับดับไฟให้พร้อม ที่สำคัญคือ ไม่ควรกำจัดขยะแบบเทกอง (open dump) แต่ควรจัดการขยะโดยการฝังกลบให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล (Sanitary Landfill) และนำก๊าซมีเทนกับก๊าซไข่เน่าระบายสู่บรรยากาศไม่ให้สะสมในกองขยะ