สัปดาห์พระเครื่อง / อ.ราม วัชรประดิษฐ์
ผ่านฤดูหนาวย่างสู่ฤดูร้อน เดือนเมษายนมุ่งหน้าสู่ภาคเหนือเข้าสู่เทศกาลปีใหม่เมือง ทั้งบรรยากาศและทัศนียภาพต่างๆ ก็เหมาะแก่การท่องเที่ยวพักผ่อนเล่นน้ำสงกรานต์ สรงน้ำพระ และรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ ในช่วงเทศกาลวันหยุดสงกรานต์ ขอให้เที่ยวและสาดน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนานและปลอดภัยทุกท่าน แต่ไหนๆ ขึ้นภาคเหนือทั้งที น่าจะแวะไปกราบนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามวัดวาอารามต่างๆ บ้างเพื่อความเป็นสิริมงคล วัดเก่าแก่ทางภาคเหนือมีมากมายทีเดียว เลยขอแนะนำสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่อดีตเป็นที่จำพรรษาของพระเกจิอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงเป็นที่เคารพทั่วประเทศของจังหวัดเชียงใหม่ นั่นคือ "วัดดอยแม่ปั๋ง" เข้าไปกราบนมัสการ "รูปปั้นขี้ผึ้งหลวงปู่แหวน สุจิณโณ" ขนาดเท่าคนจริง ซึ่งประดิษฐานอยู่ในห้องกระจก ภายในพิพิธภัณฑ์บริขารของหลวงปู่ ที่วัดดอยแม่ปั๋ง จัดสร้างโดย สถาบันมาดามทูโซด์ ประเทศอังกฤษ อันนับเป็นการปั้นหุ่นพระสงฆ์ไทยเป็นครั้งแรกและองค์แรกของโลกทีเดียวครับ
กล่าวถึง หลวงปู่แหวน สุจิณโณ สุดยอดพระเกจิอาจารย์แห่งล้านนา ผู้ได้รับสมญานามว่า "พระอริยสงฆ์ผู้เปี่ยมล้นด้วยเมตตาธรรม" เป็นที่ยกย่องและเลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาวไทยทั่วทั้งประเทศ นอกจากนี้ วัตถุมงคลต่างๆ ของท่าน ก็ล้วนได้รับความนิยมสะสมและเป็นที่หวงแหนยิ่งนัก ด้วยความศรัทธาในผู้สร้างและพุทธคุณที่เป็นเลิศปรากฏ
อัตโนประวัติของหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ท่านเป็นชาวจังหวัดเลย เกิดที่บ้านหนองบอน อำเภอเมือง เมื่อปี พ.ศ.2430 เดิมชื่อ "ญาณ" บิดามารดามีอาชีพทำนาและตีเหล็ก ด้วยจิตใจมุ่งมั่นที่จะอยู่ในสมณเพศตั้งแต่ยังเยาว์จากการปลูกฝังของผู้เป็นมารดา พออายุได้ 13 ปี ท่านจึงบรรพชาเป็นสามเณรในฝ่ายมหานิกาย โดยมีพระอาจารย์คำมา เป็นพระอุปัชฌาย์ และเปลี่ยนชื่อเป็น "แหวน" ตั้งใจปฏิบัติธรรมและเรียนรู้ตำราวิทยาการต่างๆ ด้วยความพากเพียร และความที่ท่านเป็นสามเณรที่มีความ
สุขุม พูดน้อย ขยันเจริญสมาธิภาวนา ฉันอาหารเพียงมื้อเดียว ไม่ฉันเนื้อสัตว์ ปฏิบัติตนสมกับการครองสมณเพศ ทำให้ผู้พบเห็นต่างให้เคารพศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง
ต่อมา อาจารย์ อ้วน ผู้มีศักดิ์เป็นอาของสามเณรแหวน นำไปฝากเรียนธรรมะและวิชาการ ต่างๆ ที่สำนักสงฆ์วัดนาสัก อ.วัง สะพุง จ.เลย ต่อด้วยสำนักสงฆ์วัดสร้างถ่อ อ.หัวสะพาน จ.อุบลราช ธานี ณ วัดนี้เอง พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เจ้าสำนัก ได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ทั้งภาษาบาลี ภาษาไทย จนสามารถเข้าใจและรู้แจ้งในธรรมะเพิ่มขึ้น ทั้งยังเริ่มเชี่ยวชาญในด้านไสยศาสตร์แขนงต่างๆ อีกด้วย เมื่ออายุครบบวชท่านจึงอุปสม บทที่วัดสร้างถ่อนอก ศึกษาพระธรรมวินัยและพระธรรมปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง พอราวอายุ 30 ปี ท่านเริ่มออกธุดงควัตรไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อแสวงหาพระอาจารย์ที่จะประสิทธิ์ประสาทวิชาและสหายธรรมที่จะแลกเปลี่ยนความรู้และข้อคิดต่างๆ ทั้งฝ่ายมหานิกายและฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ที่มีความสนิทสนมที่สุดคือหลวงปู่ตื้อ อาจลธัมโม ซึ่งเป็นผู้ชักนำให้หลวงปู่แหวนได้พบพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เมื่อได้รับฟังธรรมจากพระอาจารย์มั่นท่านก็บังเกิดความซาบซึ้งและรู้แจ้งถึงทางแห่งการแสวงหาธรรมอันแท้จริง ในที่สุดหลวงปู่แหวนจึงขอรับเป็นพระสงฆ์ในฝ่ายธรรมยุติกนิกายตั้งแต่นั้นมา
หลวงปู่แหวนออกธุดงค์กรรมฐานหาความวิเวกตามป่าเขาลำเนาไพรแถบภาคเหนือตลอดมา จนได้พบวัดดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ท่านจึงหยุดการธุดงควัตรเพื่อจำพรรษา ณ วัดนี้ และได้พัฒนาจนวัดดอยแม่ปั๋งเจริญรุ่งเรืองและมีชื่อเสียงมาตราบจนปัจจุบัน หลวงปู่แหวนมรณภาพ ณ วัดดอยแม่ปั๋ง เมื่อวันที่ 2 ก.ค. พ.ศ. 2528 สิริอายุ 98 ปี
เล่าขานกันว่า..... หลวงปู่แหวนท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์ผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม มากด้วยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์นานัปการ และต่างร่ำลือในความขลังวัตถุมงคลจากการปลุกเสกของท่าน ว่ามีพุทธคุณเป็นเลิศในเรื่องเมตตามหานิยม ค้าขายเจริญรุ่งเรือง การเดินทางแคล้วคลาดปลอดภัย ปราศจากภยันตรายต่างๆ ครับผม