โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจ และทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทย ก่อให้เกิดกิจกรรมเพื่อให้มีการร่วมคิด ร่วมปฏิบัติที่นำผลประโยชน์มาถึงประชาชนชาวไทย ตลอดจนให้มีการจัดทำระบบข้อมูลทรัพยากร ให้แพร่หลายสามารถสื่อถึงกันได้ทั่วประเทศ ทั้งนี้ นิคมสหกรณ์ทุ่งสง สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนครศรีธรรมราช นำโดยนายปารเมศ สังขนุกิจ ผู้อำนวยการนิคมสหกรณ์ทุ่งสง ได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ ในเขตนิคมสหกรณ์ทุ่งสง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 โดยมีการกำหนดพื้นที่เพื่อดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว จำนวน 76 ไร่ พร้อมทั้งมีการจัดทำเป็นแปลงสาธิตตามโครงการฯ จำนวน 3 ไร่ มีพันธุ์ไม้อนุรักษ์ ประกอบด้วย ต้นแชะ,ต้นตะเคียน,ต้นขนุนป่า,ต้นหว้า,ต้นวาสนา,ต้นแดง,ต้นเทพทาโร,ต้นหลุมพอ,ต้นยาง,ต้นทัง,ต้นพญาสัตบรรณ,ต้นจำปูลิ่ง (กำไร),ต้นมอกอกานี,ต้นตำเสา,ต้นพะยูง,ต้นสัก เป็นต้น การดำเนินโครงการฯ นิคมสหกรณ์ทุ่งสง ได้ร่วมบูรณาการกับ หน่วยงานต่างๆ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลเขาขาว โรงเรียน และ วัดในเขตนิคมสหกรณ์ทุ่งสง ชุมนุมสหกรณ์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช เพื่อให้การศึกษาอบรมแก่ผู้ร่วมกิจกรรม ได้ศึกษาเรียนรู้ถึงที่มาของโครงการตลอดจนเป้าประสงค์และผลประโยชน์ของโครงการฯ ภายใต้กรอบแนวคิดดั้งนี้ 1.ด้านจัดการความรู้ ได้มีการให้การศึกษาอบรมแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ ให้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการอนุรักษ์ รู้ถึงประโยชน์ คุณค่าของการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช และได้มีกิจกรรมลงไปสำรวจและจดบันทึกลักษณะตามพันธุกรรมของพืชท้องถิ่นตามรูปแบบของโครงการฯ เพื่อให้ได้รู้ถึง ชื่อ ประเภท ลักษณะ สรรพคุณการใช้ประโยชน์ของพันธุ์พืชที่มีอยู่ในแปลง เมื่อสำรวจแล้วก็ได้จัดทำป้ายบอก ชื่อ สรรพคุณ ประโยชน์ ติดไว้ที่ต้นไม้เพื่อเป็นข้อมูลในการศึกษาแก่ผู้ที่มาเยี่ยมชม ทั้งนี้ยังมีการร่วมกันปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะสม ร่วมกันปลูกพันธุ์ไม้ชนิดต่าง ๆ ให้มีความหลากหลาย เช่น ไม้ยางนา มะฮอกกานี พะยูง ตะเคียน หลุมพอ กฤษณา จำปาเขา กันเกรา ต้นทัง ฯลฯ และได้วางระบบน้ำเพื่อรดต้นไม้ในฤดูแล้งจนทำให้เป็นป่าค่อนข้างที่สมบูรณ์ พร้อมทั้งจัดทำถนนเป็นทางเท้าในแปลงอนุรักษ์พันธุกรรมพืชเพื่อสะดวกในการเดินแก่ผู้ที่มาเยี่ยมชมศึกษาพันธุ์ไม้ในแปลงอนุรักษ์ 2.เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ การปฏิบัติจริง ทำให้องค์กร ประชาชนในชุมชนได้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณประโยชน์ของป่าไม้ต่อการดำรงชีวิตอย่างไร ทำไมเราจะต้องมีป่าไม้ และทำไมต้องศึกษาถึงชนิดของพันธุ์ไม้ เพราะวิถีชีวิตของประชาชนคนไทยมีความผูกพันกับป่ามาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันและต่อไปในอนาคตด้วย การดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ เป็นการรักษาสภาพของป่าไม้ อีกทั้งยังเป็นการรักษาพันธุกรรมพืชท้องถิ่น และยังเป็นการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชให้แก่เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ชาวบ้านในชุมชน และประชาชนทั่วไป ให้เกิดความรักความหวงแหนต่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน จากการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว ทำให้ป่ามีสภาพที่อุดมสมบูรณ์ มีพันธุ์ไม้มากขึ้นและสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาถึงพันธุกรรมพืชได้ตามวัตถุประสงค์ของโครงการสามารถบ่งบอกได้ว่าโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ รักษาความสมดุลทางธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน นายไพฑูรย์ ชนะชู สหกรณ์จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ดำเนินการสนองพระราชดำริ ขับเคลื่อนโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ เพื่อสร้างความเข้าใจและทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของพันธุกรรมพืชต่างๆ รวมทั้งสร้างจิตสำนึกด้านอนุรักษ์พันธุกรรมพืช และจัดให้มีการจัดทำระบบข้อมูลพันธุกรรมพืชให้แพร่หลาย ซึ่งในเขตนิคมสหกรณ์ทุ่งสงนั้น เป็นการสนับสนุนการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช และรักษาสภาพป่าดั้งเดิมให้คงสภาพมากที่สุด รักษาพันธุ์พืชพื้นบ้านที่บริโภคภาคใต้ รักษาพันธุ์ไม้ผลเมืองร้อนให้คงอยู่และมีความหลากหลาย ตามพระราชปณิธานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี