เล่าความหลังสยามรัฐ/ทองแถม นาถจำนง: การรักษาไว้ซึ่งกติกาสังคมด้วยความประนีประนอม (8) สุกัญญา สุดบรรทัด คึกฤทธิ์เห็นความสำคัญของประชาธิปไตย เขากล่าวว่า “ผมว่าระบอบประชาธิปไตยคงจะอยู่กับเราอีกนาน ผมจะทำให้มันอยู่ได้ และผมคิดว่าอยู่ได้” นับเป็นปณิธานของเขาที่จะพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยให้ถึงที่สุด แต่เขาก็เรียกร้องให้ทุกคนปฏิบัติภารกิจนี้ร่วมกับเขาโดยประกาศว่า ประชาธิปไตยจะอยู่หรือจะไป อยู่ที่คนยุคนี้ (2527) ที่ต้องช่วยรักษาด้วยความโอนอ่อนผ่อนปรนต่อกัน แทนที่จะต่อยตีกันจนตายไปข้างหนึ่งเหมือนในประเทศอื่น คึกฤทธิ์มองสังคมว่า จะต้องมีชั่วบ้างดีบ้าง เขาจะไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติสังคมของพวกก้าวหน้า การต่อสู้ของคึกฤทธิ์นั้นโดดเดี่ยวและเด่นชัดทางหน้าหนังสือพิมพ์ ดูเหมือนว่าแนวร่วมเดียวที่เขาเรียกร้อง คือประชาชน จากหน้าหนังสือพิมพ์มองไม่ออกเลยว่าเขาได้ร่วมมือกับ “พวกหัวก้าวหน้า” อื่นใด เขากลับไม่เห็นด้วยกับเจตนาหรือความคิดใดที่ส่อเค้าไปในทางรุนแรง เช่น เขาไม่เห็นด้วยกับลัทธิคอมมิวนิสต์ เขาไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติสังคมอย่างถอนรากถอนโคน ซึ่งความคิดนี้ดูจะสอดคล้องกับค่านิยมประนีประนอมของไทยเป็นอย่างดี จึงไม่เป็นการยากเลยสำหรับประชาชนที่จะรับได้ คึกฤทธิ์เห็นว่า อะไรที่ทนได้ก็ควรจะทนกัน จะไม่ทนก็ต่อเมื่อเหคุการณ์บรรลุถึงขั้นที่ทนไม่ได้ มีความกดขี่บีบคั้นกระทำกันเหมือนไม่ใช่มนุษย์หรือไปกระทบเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับสถาบันสูงสุด ผมไม่มีลัทธิอะไรจะสอน ไม่มีอะไร ไม่มีหลักจะปฏิวัติ ไม่ต้องการ ผมรู้ว่าสังคมนั้นมันก็มีดีมั่งชั่วมั่ง ผมเกิดมาในสังคมอย่างนี้ผมก็ทนมันเอา อะไรที่ไม่ถูกใจ ถ้าอะไรที่ผมถูกใจ ผมก็ส่งเสริมสนับสนุน แต่ผมไม่ได้ถือตัวผมวิเศษถึงกับจะหยับปากกามาเขียนลงเพื่อจะปฏิวัติสังคมให้ดีขึ้น ให้น่าอยู่ขึ้น ให้น่าอภิรมย์ขึ้นอย่างที่เขาๆ ทำกัน ผมไม่ใช่คนวิเศษถึงเพียงนั้น ผมทำไม่ได้หรอกครับ ซึ่งจะเห็นได้ว่า คึกฤทธิ์นั้นประกาศตัวว่าตนไม่ใช่นักปฏิวัติสังคม เขายังมองสังคมที่เขาอยู่ในแง่ดี คิดว่าไม่ว่าอะไรๆ เกิดขึ้น จะรุนแรงหนักนาสักเพียงใดก็ยังทนได้ เพราะเหตุดังนี้ จึงเมื่อเขาเห็นทางสว่างในระบอบประชาธิปไตย เขาจึงเรียกร้องให้ทุกคนช่วยกันรักษาไว้ เพื่อให้สังคมประชาธิปไตยแบบมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ดำเนินไปอย่างตลอดรอดฝั่ง เขาไม่อ้างประชาชนเหมือนกับที่ผู้นำจำนวนมากชอบอ้าง แต่เขาอิงประชาชน และภูมิใจที่ตนได้รับการต้อนรับจากประชาชนเป็นอย่างมาก อย่างน้อยความสนใจที่ประชาชนให้ต่อข้อเขียนของเขาก็บ่งชี้เช่นนั้น คึกฤทธิ์ไม่ชี้ชวนให้ประชาชนปฏิวัติสังคม แต่เขาชี้ชวนในประเด็นปลีกย่อยกว่านั้นคือ เมื่อผู้ปกครองหมดความยุติธรรม ไม่อาจจะอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกได้อีกต่อไป เขาจึงจะเรียกร้องฉุดกระชากให้ประชาชนออกมาเข้าร่วมต่อสู้กับเขาด้วย เพราะเขาไม่ต้องการจะต่อสู้คนเดียว เขารู้นิสัยของคนไทยดีว่า คนไทยโดยทั่วๆ ไปก็ปรารถนาที่จะได้ชีวิตอย่างปกติสุข ไม่ได้นึกอยากจะปฏิวัติอะไรอย่างที่กลุ่มก้าวหน้าบางคนพยายามจะชี้แนะ แต่เขาเห็นว่าเป็นความชอบธรรมของประชาชนที่จะต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เมื่อผู้ปกครองกดขี่บีบคั้นจนไม่สามารถทนได้อีกต่อไป “เพราะคนไทยเราทั่วๆ ไป ผมก็นึกว่าเขาไม่ได้อยากปฏิวัติเปลี่ยนอะไรเหมือนกันแหละ เขาก็อยากอยู่ของสบายๆ อย่างที่เราอยู่กันทุกวันนี้ มันก็ดีอยู่แล้ว” ส่วนการเปลี่ยนแปลงที่จะต้องเกิดขึ้นบ้างนั้น ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงโดยธรรมชาติ ซึ่งต้องยอมรับกัน