นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ในฐานะตัวแทนประเทศไทยในการยื่นประมูลสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมพืชสวนโลก 2569 ที่อุดรธานี ได้กล่าวว่า การได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจัดงานในครั้งนี้ ถือเป็นแลนด์มาร์คอีเวนต์ครั้งแรกในอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง เป็นการตอกย้ำความสำเร็จของการจัดงานที่ถือเป็นงานแลนด์มาร์คระดับโลก หลังจากที่ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจัดงานพืชสวนโลกมาแล้วถึง 2 ครั้ง ที่จังหวัดเชียงใหม่
อีกทั้งการได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมพืชสวนโลก 2569 ที่อุดรธานีอีกครั้งเป็นการเน้นย้ำถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของรัฐบาล และวาระแห่งชาติในการส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG (Bio-Circular-Green Economy Model) เศรษกิจทฤษฎีใหม่ที่ผสมผสานการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อพัฒนาสังคมเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมโดยมุ่งลดและพลิกฟื้นผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม
ซึ่งงานดังกล่าวจัดขึ้นที่จังหวัดอุดรธานี ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2569 ถึงวันที่ 14 มีนาคม 2570 ภายใต้แนวคิด Diversity of Life: People, Water and Plants วิถีชีวิต สายน้ำ และพืชพรรณ ที่สะท้อนเอกลักษณ์ของพื้นที่ ความเชื่อมโยงของสายน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ และผู้คนในท้องถิ่น ผนวกแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG) และนโยบายการเกษตรและอาหาร 3S สอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs)
ขณะที่ความสำเร็จในครั้งนี้ เป็นผลจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน นำโดยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมด้านความมั่นคงทางอาหารโลกตามนโยบายเกษตรและอาหาร 3S ประกอบด้วย ความปลอดภัยทางอาหาร (Safety) ความมั่นคงทางอาหาร (Security) และ ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและนิเวศการเกษตร (Sustainability) โดยเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) และยึดมั่นต่อเจตจำนงด้านสภาพภูมิอากาศตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) อีกด้วย โดยการจัดงาน คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 2,500 ล้านบาท และดึงดูดผู้เข้าชมงานจำนวน 3.6 ล้านคน ตลอดการจัดงานทั้ง 134 วัน