ขอปชช.อย่าการ์ดตก ย้ำ UCEP PLUS ผู้ป่วยสีเหลือง – แดง เข้ารักษาได้ทุกโรงพยาบาล พร้อมวอนพาผู้สูงวัยที่พบยังมีเกือบ 2 ล้านคนยังไม่ได้ฉีดวัคซีนรีบมารับวัคซีน เตือนแม้อยู่บ้านไม่ได้ไปไหนก็มีโอกาสติดเชื้อได้ ทั้งระบุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ยังสำคัญในการบริหารจัดการปัญหาตามแนวชายแดน แม้จะประกาศเป็นโรคประจำถิ่นแล้วก็ตาม
เมื่อวันที่ 9 มี.ค.65 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติว่า คณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบตามแผน และมาตรการรองรับการเปลี่ยนผ่านของโควิด-19 สู่การโรคประจำถิ่น เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย บนพื้นฐานของการที่เศรษฐกิจ และสังคม ได้รุดหน้า ซึ่งประเทศอื่นกำลังเดินหน้าเรื่องนี้เช่นกัน ซึ่งได้แจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้บริหารจัดการ อาทิ การเฝ้าระวัง มาตรการคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศ การจัดการเรื่องวัคซีน มาตรการควบคุมโรค มาตรการด้านการรักษาพยาบาล เพื่อให้ประชาชนได้กลับมามีชีวิตตามปกติ ปัจจุบันนี้อัตราการเสียชีวิตอยู่ในระดับที่สากลยอมรับคือ เสียชีวิต 1 ต่อ 1 พันราย ซึ่งปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตของไทยอยู่ที่ไม่ถึง 1 ต่อ 1 พันราย
“ปลายเดือนมิถุนายนนี้ ต้องเริ่มเดินเข้าสู่การให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น เตียงพยาบาลต้องพร้อม อัตราความรุนแรงอยู่ในจุดที่ควบคุมได้ จำนวนผู้เสียชีวิต ต้องอยู่ในจุดที่สอดคล้องกับที่องค์การอนามัยโลกกำหนด มีความพร้อมเพรียงของยา เป็นต้น ส่วนการปฏิบัติตน ให้รักษาวินัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ ใส่หน้ากาก เหมือนที่เคยปฏิบัติมา จะช่วยลดอัตราเสี่ยงลดลง ทั้งนี้ จากข้อมูลคือ การได้รับวัคซีนบูสเตอร์อย่างครบถ้วน จะช่วยลดอาการป่วยหนักได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายอนุทินกล่าวและว่า
นอกจากนั้น ได้รับหลักการเรื่องเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น แก่กลุ่ม 608 ก่อนสงกรานต์ให้ได้มากที่สุด เนื่องจากปัจจุบัน พบผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และมีผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีการติดเชื้อเพิ่ม แน่นอนว่า เราเสียใจกับทุกความสูญเสีย แต่เราก็ต้องชี้แจงว่า จำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตนั้น มีรายละเอียดอย่างไร โดยมากกว่า 95% คือ ผู้ที่เข้าไม่ถึงวัคซีน ไปจนถึงกลุ่ม 608 มีความเสี่ยงสูง ตอนนี้ เข้าใกล้สงกรานต์ ซึ่งไม่ได้มี ข้อห้าม ในการเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนา
"สิ่งที่กระทรวงฯ อยากวิงวอนประชาชน คือ การรักษามาตรการอย่างเคร่งครัด ตอนนี้ไทยยังมีผู้สูงอายุ เกือบ 2 ล้านคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเลย ต้องขอให้ทุกภาคส่วน พามารับบริการ ทราบว่า หน่วยงานต่างๆ ไปจนถึง อสม. ไม่ได้ละเลย แต่ก็พบว่า ผู้สูงอายุ ปฏิเสธ เพราะเชื่อว่าปลอดภัย เนื่องจากไม่ได้เดินทาง ก็ต้องทำความเข้าใจ ว่า อยู่บ้านก็มีโอกาสติดเชื้อจากคนรอบข้าง"
สำหรับวัคซีนเข็ม 4 ถ้าอยู่ในกล่มที่ต้องพบปะกับผู้คนจำนวนมาก ด้วยอาชีพที่ประกอบ เช่น ผู้ขับรถสาธารณะ พนักงานตามห้างร้าน ขอให้มาแจ้ง สธ.จะบริการให้ โดยจะกำหนดว่า ระยะห่างระหว่างเข็ม 3 ถึง เข็ม 4 เป็นอย่างไร แต่ตามหลักคือ ระยะห่าง 3 เดือน เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา มีข่าวโซเชียล ขึ้นหน้าอดีตปลัดฯบอกว่า วัคซีนมีอันตราย มีคนเข้ามาสอบถามจำนวนมาก พอเข้าไปดู ปรากฏว่าเป็นเรื่องเก่า ทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิด ขอย้ำว่า วัคซีน มีความปลอดภัย และป้องกันการป่วยหนักได้
รมว.สธ.กล่าวว่า นอกจากเรื่องโควิด-19 ที่ประชุมยังได้หารือเรื่องเร่งรัดการให้บริการวัคซีนโรคหัด และหัดเยอรมัน ภายใต้โครงการกำจัดโรคหัด ภายใต้พันธสัญญากับนานาชาติ ต้องทำให้เป็นโรคที่ควบคุมได้ เรื่องสำคัญอีกเรื่อง คือ การเห็นชอบอนุมัติ ให้มีการรักษาผู้ป่วยไวรัสตับอีกเสบ ข้อเท็จจริง มียา แต่มีขั้นตอนปฏิบัติ และข้อจำกัดมากมาย เช่น ผู้ที่ต้องอนุมัติยานี้ได้ ต้องเป็นอายุรแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องโรคตับ โรคช่องท้อง ถึงจะจ่ายยานี้ได้ แต่ใน รพ.ของรัฐทั่วประเทศ ไม่ได้มีหมอแบบนี้ ก็จำเป็นต้องปรับ ซึ่งอย่าลืมว่ามีนโยบายเรื่อง 30 บาทรักษาทุกที่ ก็ต้องสานต่อ ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ ทางกระทรวงฯ ต้องหาทางแก้ไข ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษา และต้องปลอดภัย
“ส่วนเรื่องประกาศ UCEP PLUS นั้น เมื่อประกาศไปแล้ว คนที่อาการสีเขียว หรือไม่แสดงอาการ ถึงอาการน้อยมากๆ ให้เข้าดูแลในระบบ Home Isolation หรือสามารถไปหาแพทย์ตามโรงพยาบาลรัฐ ตามสิทธิ์ได้ แต่หากไปโรงพยาบาลเอกชน ต้องจ่ายเงินเอง อันนี้ สำหรับผู้ป่วยเกณฑ์สีเขียว แต่ผู้ป่วยอาการสีเหลือง และสีแดง เข้าเกณฑ์ UCEP สามารถเข้ารักษาที่โรงพยาบาลที่ไหนก็ได้”
ต่อข้อถามที่ว่าหากเป็นโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นแล้วจะมีการพิจารณาเรื่องการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เรื่องพ.ร.ก.ฉุกเฉินก็เป็นไปตามขั้นตอน โดยกฎหมายดังกล่าว ช่วยให้เกิดการบูรณาการทุกหน่วยงานให้สามารถทำงานได้ตามกฎหมาย เพราะการควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถไปสั่งการได้ทุกหน่วยงาน อย่างไรก็ตาม พอโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นแล้วทุกอย่างก็อยู่ภายใต้มือหมอ ก็จะมีการพิจารณาเรื่องพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ผ่านมา การมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ช่วยอำนวยความสะดวก ในการบริหารจัดการตามแนวชายแดน ที่ต้องขอความร่วมมือฝ่ายความมั่นคง เพราะเราสั่งการข้ามหน่วยงานไม่ได้ ต้องใช้กฎหมายตรงนี้ช่วย