รองรับผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเหลือง-สีแดง ย้ำ!ป่วยโควิดฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ ขณะที่กลุ่มโควิดสีเขียวจะเป็นการรักษาในรพ.ตามสิทธิ์ ส่วนการรักษาในระบบรักษาที่บ้าน (HI) สามารถขอใบรับรองแพทย์ในการขอเบิกประกันชีวิต ขณะที่สปสช.เปิดนิยามโควิดเหลือง-แดง 26 กลุ่มอาการเข้าข่าย และขั้นตอนการรับบริการ UCEP โควิดพลัส 9 มี.ค.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พร้อมด้วย ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ร่วมแถลงข่าวประเด็น UCEP COVID Plus และการเข้ารับบริการตามสิทธิ โดย นพ.ธเรศ กล่าวว่า ตามที่ ครม. มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายสำหรับ UCEP COVID Plus ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 16 มี.ค. 2565 โดย UCEP COVID Plus ผู้ป่วยโควิด-19 อาการระดับสีเหลืองและสีแดง จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลใดก็ได้ โดยโรงพยาบาลจะรักษาผู้ป่วยจนหาย และเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากสปสช. จากนั้นกองทุนของผู้ป่วยจ่ายค่าใช้จ่ายตามหลักเกณฑ์ Ucep หรือ Ucep Plus แก่โรงพยาบาล ทั้งนี้ กรณีญาติหรือผู้ป่วยต้องการไปรักษาที่สถานพยาบาลอื่นๆ จะเป็นภาระที่ทางผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง สำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว หลังจากวันที่ 16 มี.ค. การรักษาจะเป็นการรักษาตามสิทธิ์ หากโรงพยาบาลเอกชนไม่ได้เป็นคู่สัญญากับประกันสังคมหรือหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ผู้ป่วยเลือกรักษารูปแบบดังกล่าวจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ส่วนการรักษาในระบบรักษาที่บ้าน (HI) สามารถขอใบรับรองแพทย์ได้ แต่จะสามารถนำไปเบิกประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพได้หรือไม่นั้น ต้องเป็นไปตามรายละเอียดในสัญญากรมธรรม์ ด้าน ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า สปสช. จัดทำเกณฑ์คัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติจากเดิม 25 กลุ่มอาการ เพิ่มเป็น 26 กลุ่มอาการ สำหรับ ucep plus ผู้ป่วยตรวจ ATK ผลเป็นบวก หรือ Rt-PCR ผลเป็นบวก หากมีภาวะหัวใจหยุดเต้น อุดกั้นทางเดินหายใจ หายใจลำบากเฉียบพลัน มีภาวะช็อก ซึมลง มีไข้สูงเกินกว่า 39 องศาเซลเซียส ภายใน 24 ชั่วโมง หายใจเร็วมากกว่า 25 ครั้งต่อนาที ในผู้ใหญ่ ออกซิเจนในเลือดน้อยกว่า 94% มีโรคประจำตัว หรือต้องติดตามอาการมากกว่าคนปกติ หอบ เหนื่อย หายใจเร็ว มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป กลุ่ม 608 เป็นต้น ทั้งหมดนี้จัดเป็นผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง อย่างไรก็ตามขั้นตอนการใช้บริการ ucep plus เหมือนกับ ucep ปกติ อาจจะโทรหา 1669 แล้วนำส่งโรงพยาบาลเอกชน หากไปโรงพยาบาลรัฐจะเข้าสู่ระบบปกติของโรงพยาบาลรัฐอยู่แล้ว แต่หากไปโรงพยาบาลเอกชนจะเข้าสู่ระบบ ucep plus โดยจะมีการประเมินอาการเจ็บป่วยและแจ้งมายัง สปฉ. จากนั้นหากประเมินแล้วเข้าเกณฑ์สามารถใช้สิทธิ์ดังกล่าวได้เลย ในขณะที่ ทพ.อรรถพร กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ประเมินอาการครั้งแรกมีอาการสีเขียว ถ้ามีสิทธิรักษาฟรีอยู่ในบัตรทองแล้วป่วยโควิดอยู่เกณฑ์สีเขียว ไปรับบริการตามสิทธิ์ หรือสถานพยาบาลปฐมภูมิในเครือข่ายบัตรทองได้ทุกแห่ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หากอาการหนักขึ้นเปลี่ยนเป็นสีเหลืองถึงแดง สามารถส่งต่อไปยังโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนได้ โดยทางรัฐบาลจะดูแลทางค่าใช้จ่ายให้ โดยจะรักษาจนกระทั่งหายดีโดยกระบวนการทั้งหมดจะไม่มีค่าใช้จ่าย เว้นรายการอื่นๆที่เพิ่มเติม เช่น ห้องพิเศษ อาหารพิเศษ เป็นต้น นายบุญสงค์ กล่าวว่า ผู้ประกันตนซึ่งมีสิทธิ์ในโรงพยาบาลใด สามารถใช้สิทธิ์ในโรงพยาบาลนั้นได้ ขณะเดียวกันหากเป็นผู้ป่วยสีเขียวหรือติดเชื้อเล็กน้อยไม่แสดงอาการ สามารถเข้ารักษาได้ทุกโรงพยาบาลในคู่สัญญาของประกันสังคม โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดทั้งสิ้น และประกันสังคมจะดูแลค่าบริการทั้งหมด ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องจ่ายเพิ่มหรือเสียค่าใช้จ่าย กรณีติดโควิด-19 สีเหลืองหรือสีแดงสามารถเข้าโรงพยาบาลใดก็ได้ในประเทศไทยทั้งรัฐและเอกชน