“วันสตรีสากล” ตรงกับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ถือเป็นอีกหนึ่งวันที่คนทั้งโลกต่างให้ความสนใจ เพราะเป็นวันสำคัญที่ต้องการให้ผู้หญิงทั่วโลกออกมาแสดงจุดยืน และเคลื่อนไหว เพื่อเรียกร้องสิทธิของสตรี นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของ “ผู้หญิง” ยุคใหม่และกลายเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองความสำเร็จและความก้าวหน้าของผู้หญิงทางด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ให้เกิดความเสมอภาคทางเพศต่อไป
จุดเริ่มต้นของ “วันสตรีสากล”ที่เก่าแก่ที่สุด เกิดขึ้นในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 1909 ในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อกลุ่มแรงงานผู้หญิง ที่ทำงานอยู่ในโรงงานเย็บผ้า ได้รวมตัวกันตามท้องถนน เพื่อเดินขบวนเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียม หลังจากได้รับค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม
โดยก่อนหน้านี้ วันที่ 8 มีนาคม 1907 นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีชาวเยอรมัน "Clara Zetkin" ได้ปลุกระดมให้กลุ่มแรงงานหญิงมากกว่า 15,000 คน ประท้วงหยุดงานเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม
ส่วนสาเหตุที่เลือกเคลื่อนไหวในวันที่ 8 มีนาคม เป็นไปตามคำแนะนำของ "Theresa Malkiel" นักเคลื่อนไหวที่ต้องการระลึกถึงการต่อสู้ของแรงงานผู้หญิงที่ทำงานในโรงงานเย็บผ้า ซึ่งพวกเธอได้รวมตัวกันลุกฮือในการเรียกร้องให้นายจ้างเพิ่มค่าแรงและสวัสดิการ เมื่อในวันที่ 8 มีนาคม 1857 แต่ระหว่างการชุมนุม ได้มีการลอบวางเพลิงโรงงานเย็บผ้า และใช้กำลังสลายการชุมนุม ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 119 คน
กระทั่งปี ค.ศ. 1910 ได้มีการจัดประชุมสมัชชาแรงงานสตรี ที่ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งนับเป็นครั้งแรก ที่มีการแต่งตั้งตัวแทนแรงงานผู้หญิง จำนวน 100 คน จาก 17 ประเทศทั่วโลก ปีต่อมา จึงมีการจัดงานวันสตรีสากลขึ้น (แต่เดิมใช้ชื่อว่า "วันสตรีแรงงานสากล") ทำให้การต่อสู้และนัดหยุดงาน เพื่อเรียกร้องสิทธิของแรงงานหญิงดำเนินเรื่อยมา ในที่สุดปี 1975 องค์การสหประชาชาติ “ยูเอ็น” ได้ประกาศให้มีการจัดงาน "วันสตรีสากล" ขึ้นอย่างเป็นทางการ เพื่อให้ความสำคัญกับบทบาทและสิทธิของสตรีทั่วโลก
“วันสตรีสากล” ไม่ได้เป็นเพียงวันที่กลุ่มสตรีทั่วโลกร่วมฉลองกันเท่านั้น แต่เป็นวันที่สตรีจากทุกประเทศทั่วทุกทวีป ได้รวมตัวกันฉลองวันสำคัญนี้ เพื่อรำลึกถึงความเป็นมาแห่งการต่อสู้อันยาวนาน ให้ได้มาซึ่งความเสมอภาพของสตรีนั่นเอง