ไทยประกันชีวิตตั้งเป้าปี 65 มุ่งเน้นขยายตลาดทั้งลูกค้าเก่าและใหม่ ผ่านการนำเสนอสินค้าที่ตรงความต้องการ พร้อมผลักดันตัวแทนประกันชีวิตใช้เครื่องมือดิจิทัลเพิ่มขีดความสามารถ ด้านอัตราการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างมีนัยสำคัญ อันเป็นผลมาจากการบริหารจัดการเคลมที่มีประสิทธิภาพ นายไชย ไชยวรรณ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (ไทยประกันชีวิต (Thai Life Insurance; TLI) หรือ บริษัทฯ) เปิดเผยว่า ไทยประกันชีวิตกำหนด Business Purpose ในการดำเนินธุรกิจสู่การเป็นทุกคำตอบของการประกันชีวิต การประกันสุขภาพ และการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล หรือ Life Solutions Provider เพื่อรองรับวิสัยทัศน์การเป็นบริษัทประกันชีวิตแห่งความยั่งยืน โดยเป้าหมายการดำเนินธุรกิจในปี 2565 บริษัทฯ กำหนดเป้าหมายเบี้ยประกันภัยรับปีแรกเพิ่มขึ้น โดยเน้นการขยายตลาดทั้งกลุ่มลูกค้าเก่า ผ่านการขายกรมธรรม์ที่สอง หรือ Second Policy รวมถึงการขายแบบทั้งครอบครัว และกลุ่มลูกค้าใหม่ที่เน้นการขยายตลาดไปสู่ลูกค้าระดับบน หรือกลุ่ม High Net Worth และกลุ่มคนวัยทำงาน “บริษัทฯ มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจในทุกด้าน ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าแบบเฉพาะบุคคล หรือ Personalization ในทุกช่วงของชีวิต (Life Stage) ทุกจังหวะชีวิต (Life Event) และทุกการใช้ชีวิต (Lifestyle) การพัฒนาบริการที่มากกว่าการประกันชีวิต รวมถึงการพัฒนาช่องทางจัดจำหน่ายต่างๆ อาทิ การ Upskill - Reskill ให้กับตัวแทนประกันชีวิต ผสานกับการปรับปรุงกระบวนการทำงานแบบครบวงจรด้วยระบบดิจิทัล โดยนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ตั้งแต่การวิเคราะห์ความต้องการ จนถึงการปิดการขาย การออกกรมธรรม์ และการชำระเงิน ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานแบบ End-to-End” นายไชยกล่าว ขณะเดียวกันบริษัทฯ ส่งเสริมให้บุคลากรฝ่ายขายใช้ Digital Tools เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการใช้กลุ่มแอปพลิเคชัน MDA Plus ซึ่งจะเป็นกลุ่มแอปพลิเคชันที่สนับสนุนการทำงานของตัวแทนประกันชีวิต ทั้งการขาย การรีครูททีมงาน การบริการลูกค้า และการบริหารทีมงาน หรือการสนับสนุนให้ผู้เอาประกันภัยใช้แอปพลิเคชัน ไทยประกันชีวิต ซึ่งนอกเหนือจากการดูข้อมูลแบบประกันที่ซื้อไว้ และทำธุรกรรมต่างๆ แล้ว บริษัทฯ วางแผนที่จะพัฒนาการจัดทำแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านไลฟ์สไตล์ที่เป็นประโยชน์ตามความสนใจของลูกค้า (Interest-based Platform) เพื่อให้แบรนด์ไทยประกันชีวิตได้รับความไว้วางใจจากผู้เอาประกันภัย สำหรับผลประกอบการในปี 2564 บริษัทฯ มีเบี้ยประกันภัยรับปีแรก 10,270.65 ล้านบาท เบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป 72,747.72 ล้านบาท อัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์อยู่ที่ร้อยละ 88.6 เบี้ยประกันภัยรับจ่ายครั้งเดียว 7,430.64 ล้านบาท และเบี้ยประกันภัยรับรวม 90,451.49 ล้านบาท “จากข้อมูลเบี้ยประกันภัยรับใหม่ของบริษัทฯ พบว่า กลุ่มสินค้าที่มีเบี้ยประกันภัยรับใหม่สูงสุดในปี 2564 คือ ประกันชีวิตประเภทสะสมทรัพย์ ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 55.1 ของเบี้ยประกันภัยรับปีแรกแบบคำนวณรายปีทั้งหมด ขณะที่สัญญาเพิ่มเติม ประกันชีวิตประเภทตลอดชีพ และประกันชีวิตประเภทควบการลงทุนมีสัดส่วนร้อยละ 13.6 ร้อยละ 12.3 และร้อยละ 7.3 ของเบี้ยประกันภัยรับปีแรกแบบคำนวณรายปีทั้งหมดตามลำดับ อย่างไรก็ดี พบว่าประกันชีวิตประเภทควบการลงทุน และสัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพ มีอัตราการเติบโตของเบี้ยฯ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่เริ่มมองหาทางเลือกในการออมเงิน การลงทุนในรูปแบบอื่น เพื่อกระจายความเสี่ยง รวมถึงการมองหาหลักประกันด้านสุขภาพและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล” นายไชยกล่าว แนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคดังกล่าว ส่งผลให้ในปี 2565 ไทยประกันชีวิตกำหนดเป้าหมายเบี้ยประกันภัยรับจากผลิตภัณฑ์ประเภทคุ้มครองชีวิตเติบโต รวมถึงเน้นการขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน ผลิตภัณฑ์ประเภทออมทรัพย์ที่มีส่วนร่วมในเงินปันผล หรือ Participating Product (PAR-Product) และสัญญาเพิ่มเติมประเภทต่างๆ นายไชยกล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าในปี 2564 ธุรกิจประกันวินาศภัยบางส่วนจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่สถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออัตราการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของบริษัทฯ อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากบริษัทฯ ไม่มีผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัย ในรูปแบบ “เจอ จ่าย จบ”(1) จึงส่งผลให้ค่าสินไหมทดแทนส่วนใหญ่เป็นการให้ความคุ้มครองตามสัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพ โดยการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 โดยทั่วไปมาจากลูกค้าซึ่งซื้อสัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพและสัญญาเพิ่มเติมชดเชยรายได้ระหว่างเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของจำนวนการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนถูกหักกลบด้วยการลดลงของการเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลในกรณีอื่น เนื่องจากประชาชนหลีกเลี่ยงการไปโรงพยาบาลในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากนี้ อัตราส่วนการสูญเสีย (Loss Ratio) ที่เกี่ยวข้องกับค่ารักษาพยาบาลยังลดลงจากร้อยละ 5.8 ในปี 2562 เป็นร้อยละ 5.1 ในปี 2564 โดยสำหรับปี 2563 และปี 2564 การจ่ายเงินผลประโยชน์และค่าใช้จ่ายในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 มีจำนวน 1.6 ล้านบาท และ 899.6 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 0.04 และร้อยละ 19.47 ของการเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลโดยรวมและค่าใช้จ่ายในช่วงเวลาดังกล่าว ตามลำดับ ทั้งนี้ สถานะทางการเงินของบริษัทฯ ยังคงมีความมั่นคง โดยมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio: CAR) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 อยู่ที่ร้อยละ 355.22 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริษัทฯ สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ นายไชยกล่าวว่า ไทยประกันชีวิตให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานความมั่นคง การบริหารความเสี่ยงที่รอบคอบรัดกุม การกำกับดูแลกิจการที่ดี และการพัฒนาประสิทธภาพการทำงานพร้อมรับทุกความเปลี่ยนแปลง รวมถึงมุ่งเสริมสร้างสังคมไทยให้เข้มแข็งและยั่งยืน ด้วยการดำเนินกิจกรรมที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคม ตามเป้าหมายการพัฒนาสู่ความยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) หมายเหตุ: (1) ผลิตภัณฑ์ประเภท “เจอ จ่าย จบ” หมายถึง ผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพ ที่ผู้เอาประกันจะได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนเป็น เงินก้อน (Lump Sum) ตามวงเงินที่ได้ทำประกันไว้ หากตรวจพบโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เสนอขายโดยบริษัทประกันวินาศภัย