กรมวิทย์เผยล่าสุด โอไมครอนยึดหัวหาด มีเหลือเดลต้าแค่เล็กน้อย นอกนั้น ทั้งอัลฟา เบต้า แกมมาหายเรียบ โดยสายพันธุ์ BA.2 กำลังเบียดและแซง BA.1 ได้ด้วยความไวในการแพร่เชื้อเร็วกว่า 10% เป็นเหตุที่ทำให้แพร่เชื้อในครัวเรือนได้เร็ว ส่วนความรุนแรงไม่ต่างจาก BA.1 พบดื้อต่อวัคซีนเล็กน้อยแต่ไม่มีนัยยะสำคัญ ระบุผู้เสียชีวิตปัจจุบันเป็นสัดส่วนตามจำนวนผู้ติดเชื้อ ห่วงกลุ่มเสี่ยง ยังไม่ได้รับวัคซีนอันตรายโดยเฉพาะช่วงสงกรานต์ลูกหลานกลับบ้าน พร้อมย้ำ สายพันธุ์ BA.3 ในไทยยังไม่มีอย่ากังวล เมื่อวันที่ 7 มี.ค.65 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้แถลงถึงสถานการณ์และการเฝ้าระวังสายพันธ์โควิด-19 ในไทย โดยนพ.ศุภกิจกล่าวว่า ข้อมูลในปัจจุบันสายพันธุ์โอไมครอนครองโลกเป็นส่วนใหญ่แล้ว โดยโอไมครอน สายพันธุ์ BA.1 ยังเป็นสายพันธุ์หลัก และมี BA.1.1 สายพันธุ์ลูกซึ่งมีการกลายพันธุ์ เจอค่อนข้างมาก ส่วน BA.2 พบแสนกว่า ส่วน BA.3 มีน้อยมาก สำหรับในประเทศไทยที่มีการเฝ้าระวังช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ตรวจ 1,900 ราย พบว่าสายพันธุ์ อัลฟา เบต้าแกมมา ไม่พบแล้ว มีเดลต้า 7 ราย ที่เหลือโอไมครอนทั้งหมดโดยแชร์ส่วนแบ่งในตลาดแล้ว 99.6% มีอยู่ในทุกจังหวัด ส่วนในคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ก็พบเป็นโอไมครอน ทั้งนี้ พบ โอไมครอนBA.1 และ BA.2 สัดส่วน พบในภาพรวม BA.2 พบ 52% ที่เหลือเป็น BA.1 โดยพบ BA. 2 แพร่เร็วกว่า ค่อยๆ เบียด สัปดาห์ต่อไปจะเพิ่มขึ้นเรื่อย สักพักจะแทน BA. 1 รวมทั้งต้องเฝ้าระวังว่าจะมี BA อื่นอีกหรือไม่ นพ.ศุภกิจกล่าวว่า มีคำถามว่าถ้าแพร่เร็วแสดงว่า มีเคสเพิ่มขึ้น แพร่เชื้อเร็วจาก BA. 2 ซึ่งองค์การอนามัยโลกยังไม่มีข้อมูลเพียงพอเรื่องการแพร่เร็ว ส่วนความรุนแรงยังไม่มีความแตกต่างจาก BA.1 ที่สำคัญ โดยพบมีการแพร่เร็วกว่า 1.4 เท่า ถ้าติดในครัวเรือน จะแพร่กระจายได้สูงกว่า BA.1 เทียบ 39% ต่อ 29% โดย BA.2 แพร่เร็วกว่า 10% ในส่วนวัคซีนพบ BA.2 ดื้อต่อวัคซีนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังไม่มีนัยยะสำคัญทางสถิติ โอไมครอน BA. 1 และ BA.2 ต่างกันไม่มากจากงานวิจัย แต่ที่พบสำคัญคือ ในเรื่องยาป้องกัน จากที่เคยรักษา BA. 1, เดลต้า ได้มารักษา BA. 2 ไม่ได้ จากที่ใช้ยาราคาแพงจัดการเชื้อได้ พอมาเจอสายพันธ์ BA. 2 จัดการไม่ได้ แม้จะเสียเงินแพงแค่ไหนก็การรักษาแทบไม่ต่างกัน โดยสรุปพบโอไมครอน BA.2 ในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตไม่ได้เป็นการก้าวกระโดด แต่เป็นตามสัดส่วนที่พบผู้ติดเชื้อ ด้านนพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าวว่า การตรวจหาสายพันธุ์ในปัจจุบัน ย้ำในไทยยังไม่พบ สายพันธุ์โอไมครอน BA.3 จึงยังไม่ต้องกังวล ยังไม่พบสายพันธุ์ใหม่ โอไมครอนยังเป็นสายพันธุ์สุดท้ายที่พบในขณะนี้ ต่อข้อถามที่ว่า สายพันธุ์ BA.1 และ BA.2 จะมีความรุนแรงต่อกลุ่มเสี่ยงหรือไม่อย่างไร นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ข้อมูลในปัจจุบันยังไม่พบรุนแรง พบเมื่อติดเชื้อเร็ว จะมีคนรับติดเชื้อได้มากขึ้น เป็น 39 เปอร์เซ็นต์ต่อ 29 ปอร์เซ็นต์ ในคนสูงอายุ 2 เข็มช่วยได้ไม่มาก ในเรื่องความรุนแรง แต่ให้ชัวร์ ต้องเข็ม 3 พบว่าวันนี้ผู้ที่เสียชีวิตยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือฉีดไม่เพียงพอ มีติดเตียงที่บ้าน และยิ่งในช่วงสงกรานต์ที่จะมีการกลับบ้าน อาจจะเอาโอไมครอนไปฝากได้ ที่ใดที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือ 2 เข็ม ต้องรีบ ส่วนคำถามที่ว่าวัคซีน ที่ใช้ในไทย จะมีผลต่อสายพันธุ์ย่อยที่พบ BA. 1 และ BA.2 ไม่แตกต่าง วัคซีนทุกยี่ห้อ เมื่อฉีดระยะหนึ่ง ภูมิจะลดลงแน่ เข็มกระตุ้นจึงจำเป็นในขณะนี้