ตามที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่จังหวัดเพชรบุรีเมื่อเดือนตุลาคม 2546 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จึงพระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาการระบายน้ำให้เป็นระบบ โดยใช้คลองส่งน้ำช่วยระบายด้วยเมื่อมีน้ำหลาก พร้อมขยายคลองธรรมชาติและคลองระบายให้ระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้น้อมนำพระราชดำริมาดำเนินการ ยังผลให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างมีระบบมากขึ้น
เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี และ พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ เพิ่มเกษร รองเลขาธิการ กปร. และคณะ ได้เดินทางไปยัง โครงการชลประทานเพชรบุรี อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เพื่อร่วมประชุมติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ จังหวัดเพชรบุรี การนี้ องคมนตรีกล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2546 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเห็นว่าการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี จะต้องให้มีการระบายน้ำให้ได้ปริมาณที่มากขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้น้อมนำพระราชดำริมาดำเนินการ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมอบหมายให้คณะองคมนตรีลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องน้ำท่วม ภัยแล้ง และการประกอบอาชีพของราษฎร
“หลังจากที่พระองค์ทรงครองราชย์จวบจนปัจจุบันมีโครงการต่างๆ ที่ทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประมาณ 101 โครงการ โดยเฉพาะด้านแหล่งน้ำมีกว่า 80% ของโครงการที่ทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” องคมนตรี กล่าว
ทางด้าน นายสมเกียรติ แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเพชรบุรี เปิดเผยว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาจังหวัดเพชรบุรีจะมีน้ำใช้เพียงพอในการอุปโภคบริโภคและการเกษตรกรรม ตลอดถึงการรักษาระบบนิเวศทุกกิจกรรมในพื้นที่ และมีกลุ่มผู้ใช้น้ำมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้วย
“กลุ่มผู้ใช้น้ำจะร่วมประชุมก่อนการส่งน้ำและระหว่างส่งน้ำ ที่สำคัญจะต้องมีการใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า หากฝนตกในพื้นที่น้อยก็อาจจะกระทบต่อการใช้น้ำของราษฎรในช่วงฤดูแล้งได้ ฉะนั้นการร่วมกันบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมและรอบคอบจึงมีความสำคัญ” นายสมเกียรติ แจ่มจันทร์ กล่าว
สำหรับโครงการประตูระบายน้ำราชประชานุเคราะห์ตามแนวพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี นั้นเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2546 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานเงินส่วนพระองค์จากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมถ์ จำนวน 18,100,000 บาท สำหรับทดรองจ่ายในการก่อสร้างประตูระบายน้ำราชประชานุเคราะห์ 4 – 12 จำนวน 9 แห่ง และทางน้ำล้นราชประชานุเคราะห์ 13 จำนวน 1 แห่ง เพิ่มเติมจากที่กรมชลประทานได้ดำเนินการ ทรงติดตามและพระราชทานพระราชดำริแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำอย่างต่อเนื่อง
มีการก่อสร้างประตูระบายน้ำพร้อมติดตั้งเครื่องจักรเพื่อผลักดันน้ำ รวมทั้งขุดลอกแม่น้ำเพชรบุรี ที่เป็นเกาะแก่งตื้นเขิน และในปี 2562 คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ได้สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำเพื่อสนับสนุนโครงการต่างๆ ในพื้นที่เพิ่มเติม อาทิ โครงการตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย 1 และดอนขุนห้วย 2 เพื่อเป็นการต่อยอดโครงการฯ ให้เกิดประโยชน์อย่างทั่วถึงแก่ราษฎรตามพระราชประสงค์
ทั้งนี้ จังหวัดเพชรบุรีมีโครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กว่า 70 โครงการ รวมถึงโครงการประตูระบายน้ำราชประชานุเคราะห์ตามแนวพระราชดำริ ที่สามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งให้แก่ราษฎรสามารถดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพได้อย่างเหมาะสมเป็นอย่างดี





