แผ่นดินไหว เป็นหนึ่งในภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง โดยในประเทศไทย แม้ไม่ได้เกิดเหตุบ่อยครั้ง เหมือนในประเทศที่ตั้งอยู่โดยรอบวงแหวนภูเขาไฟ แต่หากเกิดขึ้นก็สร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานไม่น้อยเช่นกัน จากเหตุแผ่นดินไหว ขนาด 6.0 บริเวณจังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2557 ส่งผลให้อาคารและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ทั้งวัด สถานที่ราชการ โบราณสถาน บ้านเรือนประชาชนมากกว่า 8,000 หลังคาเรือน ได้รับความเสียหาย มีผู้เสียชีวิตอีก 2 ราย จากสถานการณ์ครั้งนั้น เกิดการถอดบทเรียนขึ้นมากมาย ทำให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุดาพร ปัญญาพฤกษ์ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ได้เริ่มต้นพัฒนางานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาหลักสูตรภัยพิบัติแผ่นดินไหวสำหรับเยาวชนและประชาชน จังหวัดเชียงราย” โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุดาพร เล่าถึงวัตถุประสงค์ของงานวิจัยชิ้นนี้ว่า ภัยพิบัติแผ่นดินไหวถือว่ามีความน่าสนใจ เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และในจังหวัดเชียงราย ที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่มีรอยเลื่อนจำนวนกว่า 500 แห่ง ซึ่งเมื่อเกิดแผ่นดินไหวแต่ละครั้ง ก็มีผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน ดังนั้น หากมีการเตรียมความพร้อมที่ดี มีความรู้เพียงพอ ปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องก็จะทำให้เกิดความปลอดภัย ซึ่งหลักสูตรที่สร้างขึ้นมาเป็น เอื้อต่อการสร้างองค์ความรู้ต่อเยาวชนและประชาชนในพื้นที่ สามารถนำไปปรับใช้กับบริบทของแต่ละคนในพื้นที่ต่างๆ ด้วย โดยหลักสูตรนี้ได้เริ่มต้นการศึกษาที่มุ่งเน้นไปยังกลุ่มเยาวชนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย แต่ก็สามารถนำไปประยุกต์กับทุกช่วงวัย โดยในพื้นที่ 1 อำเภอจะเปิดพื้นที่ให้โรงเรียนสมัครใจเข้าร่วมงานหลักสูตรภัยพิบัติแผ่นดินไหวสำหรับเยาวชน 1 แห่ง ซึ่งแต่ละโรงเรียนจะมีนักเรียนที่เข้าร่วมประมาณ 40 คนขึ้นไป โรงเรียนแต่ละแห่งที่เข้าร่วมงานวิจัยหลักสูตรจะมีเครือข่ายแกนนำภัยพิบัติแผ่นดินไหวไปด้วย เริ่มต้นจากการอบรมครูวิทยากรแกนนำให้ได้รับความรู้ความเข้าใจ เรียนรู้หลักสูตรเบื้องต้น เสริมความรู้เพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหวลงไปยังนักเรียนต่อไป โดยหลักสูตรการสอนจะมีทั้งหมด 4 หน่วยใหญ่ ซึ่งมีส่วนร่วมจากผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านภูมิศาสตร์ การศึกษา และหน่วยงานด้านความปลอดภัย ประกอบไปด้วย "ภัยพิบัติแผ่นดินไหวใกล้ตัว" ที่สอนให้เห็นลักษณะ สาเหตุ อันตราย ความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเหตุแผ่นดินไหวที่เคยเกิดขึ้นในจังหวัดเชียงราย ให้ดูรูปภาพความเสียหาย หรือ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ของวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ร่วมกัน ซึ่งจะช่วยสร้างความตระหนักในเรื่องของอันตรายจากแผ่นดินไหวได้มากขึ้น จากนั้นเป็น "เตรียมตัวรับมือแผ่นดินไหว" ที่เน้นเรื่องของโครงสร้างของสถานที่ บ้านที่ปลอดภัยเป็นอย่างไร โครงสร้างส่วนไหนที่ปลอดภัยจากแผ่นดินไหว สิ่งของที่วางไว้ต้องวางอย่างไรเพื่อไม่ให้ตกหล่นมาเมื่อมีแผ่นดินไหว รวมถึงศึกษาเส้นทางที่ปลอดภัย สร้างจินตนาการว่าหากเกิดแผ่นดินไหวขึ้นมาจะไปอยู่ที่ไหน พร้อมกับการเตรียมกระเป๋าอุปกรณ์ยังชีพ เรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเน้นการใช้อปุกรณ์แสวงเครื่องที่อยู่ใกล้ตัว เช่น หนังสือ ผ้าเช็ดหน้า ไม้บรรทัด ต่อมาคือ "เมื่อเกิดแผ่นดินไหวปลอดภัยได้" สร้างสถานการณ์จำลองขึ้นมา เรียนรู้การอพยพ เริ่มจากการเรียนรู้การมีสติ สามารถหลบภัยในสถานที่ต่างๆ ทั้งในอาคาร นอกอาคาร ฝึกซ้อมการอพยพ สุดท้ายคือ "เรียนรู้หลังเกิดแผ่นดินไหว" ที่เน้นการตรวจสอบความเสียหาย อาการบาดเจ็บของสมาชิกในทีม และตรวจสอบจำนวนสมาชิก เนื้อหาทั้งหมดนี้มาจากวงจรเหตุการณ์ภัยพิบัติ ทั้งก่อนเกิดแผ่นดินไหว ระหว่างเกิดแผ่นดินไหว และ หลังจากเกิดแผ่นดินไหว ขณะเดียวกันหลักสูตรดังกล่าว ยังได้นำไปสอนกับประชาชนทั่วไปด้วย โดยปรับหลักสูตรไปตามบริบทการใช้ชีวิตด้วย โดยจะเน้นการปฏิบัติมากกว่าหลักสูตรในกลุ่มเยาวชน ทำให้เห็นภาพ ใช้เวลาที่น้อยกว่า ซึ่งสามารถช่วยให้ประชาชนมีความเข้าใจถึงการเตรียมตัวรับมือแผ่นดินไหวได้มากขึ้น หลักสูตรดังกล่าวเป็นหลักสูตรระยะสั้น ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้หลายรูปแบบ ดึงบางกิจกรรมไปใช้ในหลักสูตรร่วมกับตัวชี้วัดของโรงเรียนแต่ละแห่งได้ หรือทำเป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรรวมถึงในรูปแบบชุมนุมก็ได้เช่นกัน โดยหลักสูตรสำหรับเยาวชนนั้นจะใช้เวลารวมประมาณ 2 วัน 12 ชั่วโมง แต่หากเป็นหลักสูตรสำหรับภาคประชาชนจะเป็นเวลา 1 วัน 6 ชั่วโมง โดยหลังจากเรียนรู้หลักสูตรนี้ก็จะมีการประเมินผลจากการเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามและแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้เข้าเรียน "หลังจากที่ได้อบรมหลักสูตรดังกล่าวก็ได้มีการสอบถามความเห็นจากทั้งนักเรียนและประชาชนก็พบว่า ทุกคนมีความเข้าใจต่อภัยพิบัติแผ่นดินไหวมากขึ้น ปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง ได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรม และเห็นว่าหลักสูตรนี้เป็นประโยชน์ต่อทุกคน พร้อมกันนี้ครูแกนนำภัยพิบัติแผ่นดินไหวสามารถขยายผลไปยังบุคลากรคนอื่นในโรงเรียน รวมถึงสามารถสร้างนักเรียนแกนนำที่ขยายผลนำความรู้เผยแพร่ไปยังนักเรียนคนอื่นๆ ได้มากขึ้นตามไปด้วย ถ้ามีการต่อยอดงานวิจัยนี้ในอนาคตอาจจะเน้นการศึกษาอย่างครบวงจร โดยให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ หรือแหล่งการเรียนรู้ที่ไม่ได้เป็นเพียงหลักสูตรระยะสั้นต่อไป" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุดาพร กล่าวทิ้งท้าย