รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาเเละการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ศาสตร์ทางด้านอาชญาวิทยาเป็นการศึกษาทางด้านอาชญากรรมโดยศึกษาตั้งแต่ สาเหตุ มูลเหตุ แรงจูงใจ ของการกระทำความผิดว่าเพราเหตุใดคนจึงก่ออาชญากรรม ทั้งยังศึกษาแนวทางในการแก้ไข ฟื้นฟู พฤตินิสัยของคนที่กระทำความผิดให้สามารถกลับตัวเป็นคนดี และกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังมุ่งเน้นไปที่การศึกษา แนวทางในการป้องกันอาชญากรรมอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การศึกษาทางด้านอาชญาวิทยา ได้เกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้ไม่ต่ำกว่าหนึ่งร้อยปี ซึ่งในต่างประเทศให้ความสำคัญในศาสตร์ด้านนี้เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมองว่าการใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียว ในการลงโทษคน ถึงแม้จะเพิ่มอัตราโทษให้รุนแรงขึ้น แต่คนก็ยังกระทำความผิด เพราะฉะนั้น ศาสตร์ทางด้านนี้จึงเป็นคำอธิบายได้ดี เพราะจะมองไปที่เบื้องหลัง เบื้องลึกว่าทำไมคนๆ นี้จึงได้ก่ออาชญากรรม
รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ศาสตร์ทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ มีบทบาทและสำคัญอย่างยิ่งในโลกปัจจุบันเช่นกัน เพราะการจะพิสูจน์การกระทำความผิดของคนเราไม่สามารถจะรับฟังเพียงแค่คำพูด คำอธิบายของบุคคลเพียงเท่านั้น เพราะว่าวันนี้เขาอาจจะให้การโดยพูดอย่างหนึ่ง อีกวันก็พูดอีกอย่างหนึ่ง หรือกลับคำให้การที่เคยให้ไว้ ขณะเดียวกัน นิติวิทยาศาสตร์ จะเป็นสิ่งบ่งชี้ ว่าคนๆ นั้นพูดจริงหรือไม่ เช่น การตรวจสอบลายนิ้วมือแฝง ในที่เกิดเหตุ การตรวจหาเส้นผม เส้นขน การสกัดหาดีเอ็นเอ (DNA) เพื่อพิสูจน์อัตลักษณ์ เอกลักษณ์ของบุคคล และยืนยันความเป็นตัวตนของบุคคล
“จะเห็นได้ว่า ศาสตร์ทางด้านอาชญาวิทยาและนิติวิทยาศาสตร์ มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในโลกปัจจุบัน เพราะจะเป็นคำอธิบายทั้งในเรื่องของปรากฎการณ์อาชญากรรม จนสุดท้ายปลายทาง อาจมองไปได้ถึงเรื่องนโยบายทางอาญาที่จะใช้ในการแก้ไขปัญหาของประเทศ ทั้งเรื่องการแก้ไขปัญหาการทุจริตในระดับนโยบาย หน่วยงานภาครัฐ หรือแม้กระทั่งในองค์กรต่างๆ ซึ่ฃจุดมุ่งหมายปลายทางคือต้องการให้สังคมเกิดความสงบสุข เรียบร้อย และปัญหาอาชญากรรมในสังคมอยู่ในระดับที่รับได้” สำหรับผู้ที่สนใจการเรียนการสอนทางด้านนี้ ในระดับปริญญาตรีเปิดสอนสาขาวิชาอาชญาวิทยาและนิติวิทยาศาสตร์ สำหรับปริญญาโทและปริญญาเอก เปิดสอนในสาขาวิชาอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.rsu.ac.th/cja/