บทพิสูจน์ของหนทางสู่การเป็นองค์กรที่มีคุณภาพ คือ การมุ่งมั่นพัฒนาผลการดำเนินงานให้ดีขึ้น ซึ่งจะต้องอยู่บนพื้นฐานแห่งการมีปัญญา โดย มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ "ปัญญาของแผ่นดิน" ได้ยึดถือเป็นปณิธานอันแน่วแน่ในการพัฒนาคุณภาพขององค์กรตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award) หรือ TQA คือ เป้าหมายหนึ่งของเหล่าบรรดาองค์กรชั้นนำของไทย ซึ่งเป็นบันไดขั้นสูงสุดที่ไต่ลำดับมาจาก Thailand Quality Class (TQC) และ Thailand Quality Class Plus (TQC Plus) มอบโดย สำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อประกาศความเป็นเลิศในการบริหารจัดการองค์กร ด้วยเกณฑ์ "MBNQA" (The Malcolm Baldrige National Quality Award) รางวัลคุณภาพแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์โลก เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันตามนโยบาย Thailand 4.0
นับตั้งแต่ปี 2559 ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับรางวัล TQC เป็นคณะแรก ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งเดียวในประเทศไทยที่สามารถคว้ารางวัลจากการประเมินดังกล่าวด้วยมาตรฐานโลกมากที่สุดถึง 8 รางวัล โดยในปี 2564 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้รับรางวัลThailand Quality Class Plus: Innovation (TQC Plus: Innovation) มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะเทคนิคการแพทย์ ได้รับรางวัล Thailand Quality Class (TQC)
รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกร สมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการมหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่ได้รับรางวัลมากที่สุดถึง 8 รางวัล คือ การยังคงมุ่งมั่นในวิสัยทัศน์ก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยอันดับโลก (World Class University) ตามยุทธศาสตร์ "Management for Self-Sufficiency and Sustainable Organization" ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ยุทธศาสตร์เชิงรุกที่ใช้ขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยมหิดลสู่องค์กรแห่งความเป็นเลิศ ภายใต้เป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) แห่งสหประชาชาติ
ท่ามกลางกระแส Disruptive World และภาวะโรคระบาด COVID-19 การใช้เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ ทำให้มหาวิทยาลัยมหิดลจัดการกับความท้าทาย และอุปสรรคที่องค์กรต้องเผชิญได้ หนึ่งในกระบวนการที่สำคัญคือการประเมินและบริหารความเสี่ยงที่ดำเนินการในปีก่อนหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมด้านระบบ IT ที่ครอบคลุมทุกพื้นที่และวิทยาเขต ทำให้เมื่อเกิดภาวะวิกฤติ COVID-19 มหาวิทยาลัยสามารถรับมือกับเหตุการณ์ได้อย่างราบรื่นในทุกพันธกิจ สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหาร และการปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัย รวมทั้งการปรับรูปแบบการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์ จัดระบบช่วยเหลือนักศึกษาและบุคลากรที่ได้รับผลกระทบ ระบบการสื่อสารในภาวะวิกฤติ เพื่อสื่อสารถึงลูกค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม และติดตามผลเพื่อให้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยในภาวะวิกฤติได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
การได้รับรางวัลคุณภาพถือเป็น milestone สำคัญขององค์กร ที่ไม่เพียงนำมาซึ่งความภาคภูมิใจ แต่ยังแสดงถึงความมุ่งมั่นของผู้บริหาร และบุคลากรจากทุกคณะ ที่ร่วมกันผลักดันให้มหาวิทยาลัยมหิดล บรรลุวิสัยทัศน์ในการเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก เพื่อร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ซึ่งจะเป็นปลายทางสู่ความสำเร็จที่แท้จริง
ฐิติรัตน์ เดชพรหม มหาวิทยาลัยมหิดล