คาดว่าจุดสูงสุดของผู้ป่วยอาการรุนแรงน่าจะอยู่ในช่วงหลังสงกรานต์ หรือต้นเดือนพ.ค.65 ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุกว่า 2 ล้าน ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ที่จะติดเชื้อและเสียชีวิต จึงต้องเร่งฉีดวัคซีนโควิด19ให้ได้ก่อนสงกรานต์ ป้องกันป่วยหนัก-เสียชีวิต 4 มี.ค.65 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวประเด็น "ผู้สูงอายุฉีดวัคซีนก่อนสงกรานต์ ลูกหลานกลับบเานสบายใจ" ว่า จากการประเมินสถานการณ์การระบาดโควิดก่อนสงกรานต์ ตามฉากทัศน์ที่มีการนำเสนอที่ผ่านมา คาดว่าผู้ป่วยอาการรุนแรง ปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจ กำลังขยับเพิ่มขึ้น มีโอกาสขึ้นเป็นฉากทัศน์สูงสุดได้ ซึ่งคาดว่าจุดสูงสุดของผู้ป่วยอาการรุนแรงน่าจะอยู่ในช่วงต้นเดือน พ.ค. ส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่นั้น จากตัวเลขผู้ติดเชื้อขณะนี้ อยู่ในระดับความเสี่ยงที่จะมีผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง มีโอกาสเป็นเส้นสีเหลืองมีผู้ติดเชื้อสูงสุดกว่า 5 หมื่นรายต่อวัน ในช่วงประมาณวันที่ 19 เม.ย. 2565 แต่หากไม่สามารถคงมาตรการเข้มงวด ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย การป้องกันตัวเองแบบเข้มงวด และไม่ลดพฤติกรรมเสี่ยง ก็อาจมีโอกาสพบติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 2 เท่าจาก 5 หมื่นรายต่อวัน ทั้งนี้ สถานการณ์น่าจะค่อยๆลดลงในช่วงพ.ค.-มิ.ย.2565 จึงต้องเข้มมาตรการทั้งหมด รวมทั้งการฉีดวัคซีนจะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ และจะทำให้อัตราการเพิ่มของผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจไม่มากเกินศักยภาพของระบบรักษาพยาบาล นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า แม้ว่าโควิดสายพันธุ์โอไมครอนจะมีความรุนแรงน้อยกว่า หากเทียบกับสายพันธุ์เดลต้า แต่ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ป่วยที่ปอดอักเสบต้องนอนรักษาในรพ. เพิ่มขึ้นด้วย โดยระหว่าง 2 สัปดาห์ เพิ่มขึ้น 1.5 เท่า และใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้น 2 เท่า แม้ว่าอัตราการป่วยหนัก เสียชีวิต น้อยกว่าปี 2564 แต่ยังมีกลุ่มเสี่ยงผู้สุงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีน จากรายงานผู้เสียชีวิตวันที่ 4 มี.ค.2565 จำนวน 54 ราย พบว่า ผู้เสียชีวิตเกือบครึ่งหนึ่งไม่ได้รับวัคซีนโควิด19 คิดเป็น 48% หรือได้รับเพียง 1 เข็ม คิดเป็น13% รับเข็ม 2 แต่เกิน 3 เดือน 31% รับเข็ม 2 แต่ไม่เกิน 3 เดือนคิดเป็น 6% และรับเข็ม 3 คิดเป็น 2% ขณะที่ข้อมูลการเสียชีวิต 2เดือนที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-28 ก.พ.2565 มีผู้สูงอายุเสียชีวิต 928 ราย โดยส่วนใหญ่อายุมากกว่า 60 ปีคิดเป็น 75% ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด ไม่มีประวัติการฉีดวัคซีน 60% มีประวัติรับวัคซีน 1 เข็ม 8% มีประวัติรับวัคซีน 2 เข็ม 29% และมีประวัติรับวัคซีน 3 เข็มขึ้นไป 2% ดังนั้น จึงต้องเร่งรัดฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และฉีดเข็มกระตุ้น เข็ม 2, 3,4 ในระยะเวลาที่ครบกำหนด เพื่อลดโอกาสเสียชีวิต ในทางปฏิบัติ ให้หน่วยงานในแต่ละจังหวัด ค้นหาผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน และทำทะเบียน ให้ข้อมูลทุกทาง หากยินยอมแล้วให้รับวัคซีนทันที