ดนตรี / ทิวา สาระจูฑะ หลังจาก 3 ปีที่แล้ว ข่าวการป่วยด้วยโรคมะเร็งของ เศรษฐา ศิระฉายา ถูกประกาศออกมา จากนั้นก็มีข่าวการเข้ารับการรักษาออกมาเป็นระยะ แต่เพราะเป็นการพบโรคในระยะที่ลุกลามไปมากแล้ว และในที่สุด เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 เศรษฐา ก็เสียชีวิตจากไปในวัย 78 ปี เศรษฐา เป็นบุคคลสาธารณะที่ได้รับความชื่นชอบมากมายมายาวนาน เพราะเขาทำงานในธุรกิจบันเทิงครอบคลุมขอบเขตที่กว้างขวาง ตั้งแต่เป็นนักร้อง-นักดนตรี, นักแสดง, พิธีกร, ผู้กำกับ-ผู้จัดละคร และบริษัทรับถ่ายทอดการแข่งขันกีฬาทางโทรทัศน์ แต่ทั้งหมดนี้ไม่มีอะไรที่สำคัญและสร้างอิทธิพลได้มากเท่าสิ่งที่เขาสร้างไว้ในวงการดนตรี เหมือนคนอีกมากที่รักและต้องการเอาจริงเอาจังกับดนตรี หลังจบมัธยมปลาย เศรษฐา ก็ยึดอาชีพนักดนตรีด้วยการร่วมวงคอมโบสมัยใหม่ในยุคนั้น ซึ่งได้อิทธิพลวงร็อก แอนด์โรลจากอังกฤษและอเมริกา ต่อมาเขาก่อตั้งวงที่ภายหลังกลายมาเป็น ดิ อิมพอสซิเบิ้ล เล่นตามคลับบาร์ในช่วงต้นพุทธทศวรรษ 2510 ดิ อิมพอสซิเบิ้ล ได้รับการเล่าขานแบบปากต่อปากในวงการว่าเป็นวงดนตรีฝีมือเยี่ยม และคำเล่าขานก็ตอกย้ำเป็นรูปธรรมมากขึ้น เมื่อพวกเขาเข้าประกวดวงดนตรีสตริงคอมโบที่จัดโดย สมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยฯ คว้ารางวัลชนะเลิศ 3 ครั้งติดต่อกัน ยุคที่สมาชิกประกอบด้วย เศรษฐา, วินัย พันธุรักษ์, พิชัย ทองเนียม, อนุสรณ์ พัฒนกุล, ปราจีน ทรงเผ่า และ สิทธิพร อมรพันธุ์ ในช่วงนั้น ดิ อิมพอสซิเบิ้ล เริ่มมีผลงานทำเพลงและดนตรีประกอบหนัง ขณะเดียวกันก็ออกอัลบั้มผลงานของวง ทั้งสองด้านประสบความสำเร็จท่วมท้น และด้วยฝีมือที่จัดจ้าน ยังทำให้พวกเขาได้รับการว่าจ้างให้ไปแสดงตามคลับในต่างประเทศ ก่อนจะเลิกราวงเพราะถึงจุดอิ่มตัวในปีพ.ศ. 2519 (ช่วงหลังมีการเปลี่ยนแปลงสมาชิกเข้าออกบ้าง หนึ่งในคนที่เข้ามาร่วมวงก็มี เรวัต พุทธินันทน์) วงการดนตรีไทยในยุคหลังพ.ศ. 2500 รูปแบบของวงดนตรียังเป็นลักษณะบิ๊กแบนด์ มีแผงเครื่องเป่าเป็นหลัก นั่งเล่นอยู่หลังสแตนด์โน้ต จนกระทั่งร็อค แอนด์ โรลจากตะวันตกแผ่อิทธิพลเข้ามาในประเทศ วงดนตรีของคนหนุ่มสาวก็เริ่มเปลี่ยนเป็นคอมโบเล็กๆ 4-5 ชิ้น เล่นเพลงสากล นั่นเป็นการเพิ่มเติมรูปแบบใหม่ๆในการเล่นของวงดนตรี แต่ยังไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่แก่นแกน หน้าปัดวิทยุยังถูกครอบครองด้วยเพลงไทยสากลและเพลงลูกทุ่ง ซึ่งเพลงไทยสากลแบ่งตามวิธีร้องได้เป็น 2 สายหลักๆ คือ สายสุนทราภรณ์ และ สายสุเทพ-สวลี การมาถึงของ ดิ อิมพอสซิเบิ้ล ภายใต้การนำของ เศรษฐา พลิกโฉมเพลงไทยเข้าสู่ยุคใหม่อย่างแท้จริง ทั้งด้วยวิธีทางดนตรี, ลักษณะของเพลง, รูปแบบวง และการร้อง ความสำเร็จของ ดิ อิมพอสซิเบิ้ล มีอิทธิพลต่อวงคอมโบรุ่นเดียวกันและรุ่นใหม่ที่ตามมามากมาย และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อวงการเพลงไทย โดยเฉพาะเพลงไทยสากล แม้ว่าฐานผู้ฟังเพลงไทยสากลในแบบ สุนทราภรณ์ และ สุเทพ-สวลี อาจจะยังไม่ลดลงทันที แต่ไม่ขยายออกไปได้อีก ดิ อิมพอสซิเบิ้ล เปลี่ยนรสนิยมการฟังเพลงไทยอย่างกว้างขวาง และหลังจากนั้น พื้นที่ของเพลงไทยสากลแบบเดิมๆก็ค่อยๆลดลง การสร้างเพลงใหม่ๆในแบบเทรดิชั่นไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร แต่หากพิจารณาลึกๆ จะเห็นว่า ความนิยมที่มีต่อ ดิ อิมพอสซิเบิ้ล อาจจะเป็นเพราะสังคมเปลี่ยนไป ถึงช่วงเวลาที่คนฟังเพลงกำลังต้องการความเปลี่ยนแปลงพอดี เพียงแต่ยังไม่รู้ว่าควรจะออกมาในลักษณะไหน ความชาญฉลาดหรืออาจจะเรียกว่าจุดเด่นของ ดิ อิมพอสซิเบิ้ล คือ นำวิธีการเรียบเรียงดนตรีใหม่ๆเข้ามา, การเล่นด้วยเครื่องน้อยชิ้นลง ซึ่งเหมือนชักชวนให้วัยรุ่นอยากลุกขึ้นมาเล่นดนตรี, การใช้เสียงร้องประสานหลายแนวเสียงในแบบสากลร่วมสมัย ต่างไปจากการร้องหมู่คีย์เดียวกัน (หรือ unison) ที่เราคุ้นเคย และเสียงร้องแปลกใหม่ใสกังวานของ เศรษฐา ต่างจากเสียงนุ่มทุ้มที่นิยมกันมาแต่ก่อน แต่ขณะเดียวกัน ตัวเพลงก็ยังมีความเป็นไทยสากลแบบเดิมอยู่ด้วย เพราะผู้แต่งยังเป็นครูเพลงที่มีชื่อเสียงคนเดิมๆ และการร้องออกอักขระที่ชัดเจนของ เศรษฐา จึงเป็นอีก 2 ปัจจัยที่ทำให้ ดิ อิมพอสซิเบิ้ล ไม่ได้ถูกต่อต้านจากนักเพลงไทยสากลรุ่นเก่า แน่นอนว่า ไม่มีใครจะไม่ยอมรับความสามารถในการเป็นนักแสดง, พิธีกร, ผู้กำกับ-ผู้จัดละคร และทำธุรกิจบันเทิงของเขา คนรุ่นหลังจะจดจำภาพของ เศรษฐา ในสถานะต่างๆเหล่านี้ได้มากกว่า เพราะเป็นเวลานานแล้วที่เขาก้าวเข้ามายึดอาชีพในแวดวงการแสดงเต็มตัวหลังจากยุบวง ดิ อิมพอสซิเบิ้ล แต่ผลงานในอาชีพเหล่านั้นไม่ได้ส่งอิทธิพลในทางลึกต่อสังคม เท่ากับการเป็น เศรษฐา ศิระฉายา ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจ และกำหนดเส้นทางของ ดิ อิมพอสซิเบิ้ล ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงวันที่เลิกรา และวงการดนตรีไทยก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป