เล่าความหลังสยามรัฐ / ทองแถม นาถจำนง: บทบาทและอิทธิพลของข้อเขียนของคึกฤทธิ์ในสยามรัฐ (7) สุกัญญา สุดบรรทัด ในบทก่อน ได้กล่าวถึงภาพของคึกฤทธิ์ที่เห็นได้จากหนังสือพิมพ์ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาระงาน และอิทธิพลของข้อเขียนของเขามาแล้วในระดับหนึ่ง ส่วนในบทนี้จะเน้นลักษณะของข้อเขียนของเขาแต่ละชิ้น รวมไปถึงเหตุผลเฉพาะกรณีอันแสดงถึงอิทธิของข้อเขียนของเขาในรายละเอียด คึกฤทธิ์เขียนหนังสือสยามรัฐหลายเรื่อง ทั้งบทกวี บทความ ตอบปัญหาและวรรณกรรม ทุกๆ เรื่องดูจะเป็นที่ชื่นชอบของผู้อ่านเป็นอย่างมาก ส่วนข้อเขียนของเขาในหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นก็พอมี แต่ต้องย้อนหลังไปไกลๆ ได้แก่บทความภาษาอังกฤษในลิเบอร์ตี้ บทความและสารคดีในเกียรติศักดิ์ทั้งฉบับรายวันและรายสัปดาห์ เรื่องในสยามรัฐ มีตั้งแต่บทความ บรรณาธิการ ตอบปัญหา ไปจนถึงนวนิยาย และบทสักวา กล่าวได้ว่า คึกฤทธิ์เขียนเรื่องลงสยามรัฐ ในวันหนึ่งๆ ไม่น้อยเลย อาจจะกล่าวได้ว่าบทความและตอบปัญหา เป็นสิ่งที่สร้างผลทางการเมืองได้มากที่สุด คึกฤทธิ์มีคอลัมน์แสดงความเห็น หรือบทความประจำในสยามรัฐ คอลัมน์นี้มีชื่อเรียกต่างๆ กันไปตามยุคสมัย ตามแต่ท่านผู้เป็นเจ้าของคอลัมน์จะเห็นสมควร โดยเริ่มต้นมีชื่อคอลัมน์ว่า “เก็บเล็กผสมน้อย” ต่อมามีการเปลี่ยนชื่อเป็น “คึกฤทธิ์” “ข้าวนอกนา” “ข้าวไกลนา” “ข้างสังเวียน” และ “ซอยสวนพลู” แต่ไม่ว่าจะชื่ออะไรก็ดูเหมือนจะเป็นคอลัมน์ที่ทรออิทธิพลเท่ากันๆ ไปหมด ส่วนคอลัมน์ตอบปัญหานั้น นอกจากจะเป็นเวทีแสดงความเห็นของคึกฤทธิ์แล้ว ยังสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของประชาชนเขียนมาถามปัญหา และเป็นช่องทางที่คึกฤทธิ์จะได้ตอบชนิดให้ความรู้และเสียดสีถากถางรัฐบาอย่างได้ผลยิ่ง บทความ “เก็บเล็กผสมน้อย” คึกฤทธิ์ เริ่มบทความในสยามรัฐ ด้วย “เก็บเล็กผสมน้อย” ลงครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2493 บทความชิ้นนี้ยังแสดงความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลจอมพล ป. อยู่ การเสียดสีแบบสอดแทรกอารมณ์ขันยังเป็นไปด้วยไมตรีจิตมิตรภาพ ในบทความชิ้นนี้ คึกฤทธิ์ได้กล่าวถึงการตัดถนนหนทาง พลางพูดถึงจอมพล ป. ว่า “เวลาว่างราชการลองออกเที่ยวตามตรอกเล็กตรอกน้อยดูบ้าง ท่านจอมพลเองก็จะได้รับความเพลิดเพลิน และถนนหนทางในกรุงเทพนี้ก็จะพลอยดีขึ้นไปด้วยอีกเป็นอันมาก ยิ่งกว่านั้น ท่านจอมพลก็มีลักษณะที่ใครได้เข้าใกล้แล้วต้องรัก ถ้าคนไทยเป็นจำนวนมากที่อยู่ในตรอกเล็กตรอกน้อย ได้พบเห็นท่านจอมพลในระยะใกล้ก็จะได้มีโอกาสนึกเสน่หากับท่านจอมพลบ้าง และความรักของชาวบ้านนั้นขอยืนยันว่าเป็นความรักที่จีรังยั่งยืนตลอดกาล กว่าความรักของนักการเมืองเป็นไหนๆ” “เก็บเล็กผสมน้อย” นี้ บางทีก็ออกสลับกันกับ “ปัญหาประจำวัน” แต่นานๆ ครั้งก็มีว่างไปทั้งสองคอลัมน์ก็มี “เก็บเล็กผสมน้อย” นี้เป็นเรื่องทั่วๆ ไปที่ท่านผู้เขียนนำมาเก็บเล็กผสมน้อยจริงๆ จึงสามารถครอบคลุมเนื้อหาได้อย่างกว้างขวาง บางเรื่องผู้เขียนก็เขียนอย่างเรียบๆ เงียบขรึม แต่บางเรื่องเขาก็เขียนอย่างคนร่ำรวยอารมณ์ขันที่ไม่ลืมจะสอดแทรกเรืองการเมืองลงไปด้วยเมื่อมีโอกาส “เก็บเล็กผสมน้อย” ฉบับวันที่ 10 กันยายน 2493 เขียนเสียดสีทั้งรัฐบาลและหนังสือพิมพ์ว่าลองนึกดูว่า สมมติมีนักวิทยาศาสตร์คำนวณได้แน่นอนว่า ในวันมะรืนนี้ดาวหางดวงใหญ่จะวิ่งมาชนโลก นสพ.การค้าคงพาดหัวว่า โลกแตกภายในสามวัน ราคาสินค้าลงฮวบ หรือ ตลาดปั่นป่วนเพราะโลกแตก นสพ.ฝ่ายค้านคงพาดว่า รัฐบาลจอมพลทำโลกแตก นักการเมืองเตรียมตัวหนีไปโลกอื่น ฝ่ายประชาธิปไตยทำลายโลกคอมมิวนิสต์ระเบิดโลกมะรืนนี้ ฝ่ายค้านชอบใจที่โลกแตก ท่านจอมพลสั่งเตรียมพร้อมรับสถานการณ์โลกแตก ฝ่ายไม่เกี่ยวกับใครอาจพาดหัวเป็นที่รื่นเริงว่า ไอ้ตาลยอดด้วนฉลองส่งโลก เหมยว่าจะหาผัวให้ได้ก่อนโลกแตก สาวหนีผัวว่าโลกจะแตกแล้วยังกวนซะเรื่อย เขาสรุปว่า “เรื่องพาดหัวของหนังสือพิมพ์ในเมืองไทยเรานี้ นับว่าเป็นอีกส่งหนึ่งที่ทำให้ชีวิตประจำวันได้รื่นรมย์อยู่เสมอ” ตอบปัญหาประจำวัน บทความของคึกฤทธิ์ ให้ทั้งความรู้ ความสนุกสนาน ขบขัน และในบางโอกาสมันก็ปลุกเร้าความรู้สึกทางการเมืองอย่างได้ผลอีกด้วย ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป “ตอบปัญหาประจำวัน” เป็นอีกคอลัมน์หนึ่งที่ประชาชนนิยมมาก พากันเขียนจดหมายมากองพะเนินเทินทึกบนโต๊ะบรรณาธิการ เริ่มต้นด้วยการตอบในคอลัมน์สักวา เพราะมีผู้อ่านเขียนสักวามาถามคึกฤทธิ์โดยตรงชะรอยจะทราบฝีมือกลอนกันมาก่อน ซึ่งคึกฤทธิ์ก็ตอบปัญหานั้นเป็นสักวาเช่นกัน และหลังจากนั้นก็มีการถาม-ตอบปัญหาเป็นสักวาระหว่างคึกฤทธิ์กับผู้อ่านเป็นบางครั้ง “ปัญหาประจำวัน” ลงเป็นครั้งแรกในฉบับวันที่ 31 สิงหาคม 2493 หน้า4 ปัญหาที่เขียนมาถามมี 2 ข้อ คือ 1) เขาว่าที่รัฐบาลให้เลิกขายอาหารเมื่อเวลา 24.00 น. เป็นลัทธิเอาอย่างมาจากหม่อมคึกฤทธิ์จริงหรือไม่ 2) เขาว่าที่รัฐบาลสั่งให้เลิกขายเหล้าตั้งแต่เวลา 17.00 น.-24.00 น. เลิกนั้น เป็นลัทธิเผด็จการจริงหรือไม่ ผู้ถามใช้นามแฝงว่า “นายขาว” ซึ่งคึกฤทธิ์ตอบว่าไม่จริงทั้งสองข้อ คึกฤทธิ์ชี้แจงเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2493 ถึงวัตถุประสงค์ในการที่ให้ผู้อ่านเขียนมาว่าเพื่อสนองน้ำใจอันดีของผู้อ่าน หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ตั้งอยู่ได้ด้วยการอุดหนุนจากสมาชิกผู้อ่านทั้งหลาย ถ้าหากว่าคณะหนังสือพิมพ์นี้ (รวมทั้งตัวผมเองด้วย) จะทำสิ่งใดให้เกิดประโยชน์หรือความรื่นเริงให้แก่ท่านผู้อ่านได้ทางใดก็ยินดีจะทำเสมอโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย คอลัมน์ตอบปัญหาปรากฏว่ามีผู้สนใจมาก จึงพยายามทำไปจนสุดความสามารถ เพื่อสนองน้ำใจอันดีของท่านผู้อ่าน ไม่มีความประสงค์อื่นใดที่เกินไปกว่านี้ คอลัมน์ตอบปัญหานี้เกิดขึ้นมาแล้ว ก็ได้ทำหน้าที่สนองความกระหายใคร่รู้ของผู้อ่านอย่างจริงๆ จังๆ จนผู้ตอบแทนจะตอบปัญหาไม่ทันเพราะจดหมาย “กองเป็นภูเขาเลากา” ดังคอลัมน์ “บอกทบ” ชี้แจงต่อผู้อ่านว่า “การตอบปัญหาทุกๆ วันอย่างน้อยวันละหนึ่งปัญหา แต่ก็ไม่ทันใจผู้อ่าน “เพราะว่าปัญหาประจัน วันหนึ่งๆ นั้นถูกส่งมาอย่างมากมายก่ายกอง ผู้ตอบจึงต้องอาศัยวัฒนธรรมการเข้าคิวปัญหาไว้ที่หน้าโต๊ะซึ่งขณะนี้กองสูงเป็นภูเขาเลากา ไม่เชื่อถามบุรุษไปรษณีย์ดูก็ได้ นับวันคอลัมน์นี้ก็ยิ่งดีวันดีคืน กลายเป็นดังมิตรสนิทของผู้อ่าน มีปัญหาอะไรก็เขียนกันมาตั้งแต่เรื่องวิชาการความรู้ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ไปจนถึงเรื่องในครอบครัว เกลียดรัฐบาลก็เขียนมาระบายกับคึกฤทธิ์ จนถึงขั้นที่ว่าที่รู้กันว่าผู้คนเกลียดรัฐบาลจอมพล ป. กันมากก็เพราะคอลัมน์นี้แหละ จอมพล ป. หลังจากที่ลี้ภัยจากประเทศไทยไปแล้ว ยังเขียนจดหมายมาฟาดฟันกับคึกฤทธิ์ในสยามรัฐ ดังจะกล่าวถึงต่อไป