สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ร่วมกับ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และ สมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย จัดสัมมนา “การปกป้องคุ้มครองเด็กในโรงเรียน (ประเทศไทย) ประจำปีพ.ศ.2565” (Child Safeguarding in Schools (Thailand) 2022) โดยมุ่งเน้นความสำคัญของการปกป้องคุ้มครองเด็กในรั้วโรงเรียนและนำเสนอการปฏิบัติที่ถูกต้องให้โรงเรียนนำไปปรับใช้เพื่อป้องกันการล่วงละเมิดต่อเด็ก ศูนย์ช่วยเหลือสังคม ภายใต้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์พบว่า เด็กไทยเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลด้วยสาเหตุความรุนแรงมากกว่า 10,000 คนในแต่ละปี รายงานการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2562 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและยูนิเซฟพบว่าเด็กอายุระหว่าง 1-14 ปี ร้อยละ 58 เคยถูกลงโทษด้วยความรุนแรงทางร่างกาย ในทุกๆปี แผนกกงสุลของสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยได้ให้ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการแก่เด็กเฉลี่ยปีละ 60-70 คน และถึงแม้ว่ามาตรการการเดินทางจะเข้มงวดทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศน้อยลง แต่ก็ยังมีเคสการช่วยเหลือเด็กถึง 35 รายในปีที่ผ่านมา สถิติข้อมูลในระดับโลกและระดับภูมิภาคยืนยันว่าความเป็นอยู่และการเรียนรู้ของเด็กๆ ส่งผลต่อกัน ความรุนแรงมีผลกระทบต่อสุขภาพกายและความเป็นอยู่ของเด็ก ๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ไม่ว่าจะมาจากการได้รับบาดเจ็บ พฤติกรรมเสี่ยง การไร้ซึ่งความไว้เนื้อเชื่อใจต่อผู้อื่น การทำร้ายตนเอง ปัญหาด้านสุขภาพ และอื่น ๆ การต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรงยังทำให้การเข้าเรียนน้อยลงหรือถึงขั้นลาออกจากโรงเรียน ซึ่งส่งผลให้ระดับการเรียนรู้และอัตราการสำเร็จการศึกษาลดต่ำลงเช่นกัน มาร์ค กูดดิ้ง เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย การประชุมดังกล่าวได้เชิญผู้เชี่ยวชาญและนักปฏิบัติเข้าร่วมแบ่งปันแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องเพื่อให้โรงเรียนได้นำไปปรับใช้ในการปกป้องคุ้มครองเด็กอย่างเข้มแข็ง และเปิดโอกาสให้มีการถกเรื่องบทบาทหน้าที่ของโรงเรียนและครูในการปกป้องเด็ก ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้โรงเรียนในประเทศไทยได้รวมเอาการคุ้มครองเด็กเป็นนโยบายความปลอดภัยภายในโรงเรียนและความเป็นอยู่ของเด็ก การประชุมยังนำเสนอให้มีการฝึกอบรบครูเพื่อสังเกตสัญญาณของการละเมิดต่อเด็กและการช่วยเหลือเด็กเมื่อถูกละเมิด การประชุมดังกล่าวมีวิทยากรหลักจากยูนิเซฟ องค์การเอ็คแพท อินเตอร์เนชั่นแนล สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักร มูลนิธิสายเด็ก และผู้เชี่ยวชาญด้านปกป้องคุ้มครองเด็ก แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้ร่วมประชุมเกือบ 200 คน ต้องเข้าร่วมผ่านทางออนไลน์ และปิดงานด้วยการประชุมโต๊ะกลมที่มีผู้เข้าร่วมจากกระทรวงศึกษาธิการ ภาคประชาสังคม และตัวแทนเด็กและเยาวชน และพ่อแม่ คยองซัน คิม ผู้อำนวยการยูนิเซฟ ประเทศไทย มาร์ค กูดดิ้ง เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวว่า “โรงเรียนสามารถมองเห็นพัฒนาการและการตอบโต้ของเด็ก ๆ และครูจะเป็นคนที่สามารถสังเกตเห็นพฤติกรรม บาดแผลหรือความเจ็บปวดของเด็ก ๆ และยังมีบทบาทที่สำคัญที่จะสังเกตเห็นสัญญาณของการถูกกระทำเหล่านี้ ดังนั้นผมจึงมีความยินดีที่เราได้มาพบกันในวันนี้และร่วมแบ่งปันความรู้ความเข้าใจว่าเราจะทำอย่างไรให้การปกป้องคุ้มครองเด็กได้ก้าวไปข้างหน้า” สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า “กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญสูงสุดกับการปกป้องคุ้มครองเด็กในระบบการศึกษา เราเล็งเห็นคุณค่าของการประชุมครั้งนี้ที่จะสามารถแบ่งปันการปฏิบัติที่ดีและชี้ให้เห็นความสำคัญของการปกป้องเด็กในโรงเรียนในประเทศไทย ทางกระทรวงขอขอบคุณคณะผู้จัดงาน ได้แก่ สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ ยูนิเซฟ และ สมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย และเราหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเดินหน้าการทำงานร่วมกันเพื่อปกป้องคุ้มครองเด็ก ๆ ในโรงเรียนในประเทศไทย” คยองซัน คิม ผู้อำนวยการยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “มีหลักฐานที่ชัดเจนขึ้นว่าความเป็นอยู่และการเรียนรู้ของเด็ก ๆ นั้นเชื่อมโยงกัน ฉันเชื่อเหลือเกินว่าคำมั่นสัญญาของกระทรวงศึกษาธิการที่มีต่อเรื่องความปลอดภัยในโรงเรียนซึ่งเป็นนโยบายหลักของทางกระทรวงจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การปกป้องเด็กจากความรุนแรงในประเทศไทยนั้นดียิ่งขึ้น และส่งเสริมให้เด็กมีประสบการณ์ที่ดีในโรงเรียน การทำโรงเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กทุกคน ไม่ว่าจะในประเทศไทยหรือที่ไหน ๆ เป็นภารกิจหลักของยูนิเซฟ ในฐานะที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ Safe to Learn Global ร่วมกับรัฐบาลอังกฤษและพันธมิตร”