สธ.เพิ่มแนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 “เจอ แจก จบ” ควบคู่กับ HI/CI เริ่ม 1 มี.ค.นี้ ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่ม 24,719 ราย เสียชีวิต 42 ราย เมื่อวันที่ 27 ก.พ.65 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เน้นย้ำการบริหารสถานการณ์โควิด-19 ในไทย กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เข้าถึงระบบรักษาอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว โดยกระทรวงสาธารณสุข จะเพิ่มเติมแนวทางการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบ “เจอ แจก จบ” เป็นผู้ป่วยนอก ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ควบคู่ไปกับระบบการดูแลรักษาที่บ้านหรือชุมชน (HI/CI) โดยเมื่อผู้ป่วยได้ยืนยันผลเป็นบวกด้วย ATK แล้ว และได้ทำการแจ้งขอเข้ารับการรักษาในระบบ แพทย์จะพิจารณาจ่ายยารักษา 3 สูตร ได้แก่ ยาฟาวิพิราเวียร์ ยาฟ้าทะลายโจร ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ไอ ลดน้ำมูก ตามอาการของผู้ติดเชื้อได้ ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ติดเชื้อในการเข้าถึงบริการ และเชื่อมโยงเข้าสู่โรคที่ดูแลได้ด้วยตนเอง โดยจะเริ่มในวันที่ 1 มี.ค.นี้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางบริหารจัดการโรคโควิด-19 ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนผ่านจากโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) เป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) เมื่อโรคลดความรุนแรงลง ไม่มีภาวะอันตราย และประชาชนก็มีภูมิต้านทานจากการฉีดวัคซีนตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว “นายกฯ ยังฝากความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ฉีดวัคซีนครบเกณฑ์ และรวมกลุ่ม 608 และผู้ได้วัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว ต้องไม่ประมาท ยังคงขอให้งดเข้าสถานที่เสี่ยง งดร่วมกิจกรรมกลุ่ม ชะลอเดินทาง ทำงานที่บ้าน (WFH) ร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention สวมหน้ากาก หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่าง ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขประกาศยังคงระดับการเตือนภัยโรคไวรัสโควิด-19 ไว้ที่ระดับ 4 ถึงขณะนี้” นายธนกร กล่าว ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ได้รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ล่าสุด พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 24,719 ราย ลดลงจากเมื่อวาน(26ก.พ.) โดยเป็นการติดเชื้อภายในประเทศ 24,599 ราย (เรือนจำ 72 ราย) เดินทางมาจากต่างประเทศ 120 ราย รวมผู้ติดเชื้อสะสมทั้งสิ้น 2,869,616 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก 42 ราย ซึ่งสูงสุดในรอบปีนี้ รวมจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมทั้งสิ้น 22,891 ราย รักษาหายเพิ่มอีก 16,875 ราย รวมยอดรักษาหาย 2,637,879 ราย ผู้ป่วยกำลังรักษา 208,846 ราย อยู่ในโรงพยาบาล 85,075 ราย อยู่ในโรงพยาบาลสนามและอื่นๆ 123,771 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 955 ราย ในจำนวนนี้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 268 ราย สำหรับรายละเอียดผู้เสียชีวิต 42 ราย เป็นชาย 24 ราย หญิง 18 ราย โดยเป็นคนไทย 39 ราย เมียนมา 2 ราย เยอรมนี 1 ราย อายุน้อยที่สุด 28 ปี อายุมากที่สุด 99 ปี ทั้งนี้ พบเชื้อในวันที่เสียชีวิต 3 ราย สำหรับผู้เสียชีวิตที่อายุ 60 ปีขึ้นไปมี 35 ราย อายุน้อยกว่า 60 ปีมีโรคเรื้อรัง 6 ราย ไม่มีโรคเรื้อรัง 1 ราย ส่วนใหญ่การติดเชื้อจากการอยู่ในพื้นที่ระบาด ตามด้วยติดเชื้อจากคนรู้จัก พบมีผู้ป่วยติดเตียง/พิการเสียชีวิตที่บ้าน 2 ราย กทม.พบผู้เสียชีวิต 6 ราย สมุทรสาคร 3 ราย นครปฐม 2 ราย สมุทรปราการ 1 ราย สุรินทร์ 2 ราย อุบลราชธานี 2 ราย บุรีรัมย์ 1 ราย ตาก 2 ราย เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ พิจิตร พิษณุโลก จังหวัดละ 1 ราย กระบี่ 5 ราย ภูเก็ต 2 ราย นราธิวาส ปัตตานี สตูล จังหวัดละ 1 ราย ชลบุรี 3 ราย สระแก้ว 2 ราย จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ราชบุรี จังหวัดละ 1 ราย ด้าน ดร.สุวดี พันธุ์พานิช รองโฆษกพรรคไทยสร้างไทย และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต1 กทม. ซึ่งทำหน้าที่อาสาสมัครประสานเตียงผู้ป่วยโควิด เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดสายด่วนรองรับผู้ติดเชื้อกลุ่ม 608 หรือกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรังให้ได้รับการรักษาก่อน เนื่องจากเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลใกล้ชิดและได้รับยาด้วยความรวดเร็วเพื่อลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิต หลังมีการรายงานข้อมูลผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ระหว่างวันที่ 20-24 ก.พ. จำนวนรวม 255 ราย พบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 97 เป็นผู้สูงอายุหรืออายุน้อยแต่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง มีผู้ประสานและร้องเรียนเรื่องการไม่ได้รับการติดต่อกลับเรื่องเตียง สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อ กลุ่ม 608 โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง โดยแสดงค่าออกซิเจนในเลือดต่ำและมีไข้สูง โดยที่กลุ่มผู้ป่วยดังกล่าวถูกปฏิเสธในการเข้าระบบ Home Isolation เนื่องจากเงื่อนไขเรื่องสุขภาพ การประสานดูแลของผู้ติดเชื้อ 1330 ยังรองรับผู้ติดเชื้อทั่วไปและกลุ่ม 608 ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดความโกลาหลและสิ้นหวังในการดำเนินงานของรัฐบาลมาก หากรัฐบาลมีเตียงว่างจริงขอให้เปิดสายด่วนดูแลผู้ติดเชื้อเฉพาะกลุ่ม 608 ด้วย เพราะถ้าคนกลุ่มนี้ได้รับการดูแลรักษาล่าช้าอาจจะอันตรายได้ "ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อมีอาการปอดอักเสบเกือบ 1,000 ราย และมีผู้ป่วยอาการหนักใส่เครื่องช่วยหายใจ 263 ราย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ใช้เวลารักษาเกินกว่า 20 วัน การที่ผู้ติดเชื้อ 608 ได้รับการรักษาช้า จะยิ่งทำให้อัตราการป่วยหนักและเสียชีวิตสูงขึ้น” ดร.สุวดี กล่าว