ไม่ใช่เพียงวิกฤติ COVID-19 ที่กำลังคุกคามมวลมนุษยชาติ แต่ภาวะซึมเศร้าก็นับเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การสูญเสียชีวิตของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นทุกปี จากความผิดปกติทางอารมณ์ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนที่ทำให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวล จนดำดิ่งสู่ความหมกมุ่นครุ่นคิด หลายคนเลือกที่จะจบชีวิตตัวเอง ซึ่งนอกจากเป็นการบั่นทอนสภาวะทางจิตแล้ว ยังส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางกายในระบบที่เกี่ยวข้อง ที่เห็นได้ชัดคือผลกระทบทางระบบภายในสมอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาต่อระบบหลอดเลือด อารมณ์การเรียนรู้สิ่งใหม่ และความจำ
มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้นำด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพศึกษา ซึ่งไม่ได้หยุดอยู่ที่ศักยภาพในการให้การรักษาทางการแพทย์ แต่ยังครอบคลุมถึงศักยภาพในการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน อันเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการรักษาที่แม่นยำ และการพัฒนายาใหม่ที่สามารถออกฤทธิ์ได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ อาจารย์อาวุโสของภาควิชาสรีรวิทยา และหัวหน้าหน่วยวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูกคนแรก จากคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการทำงานของร่างกาย บนพื้นฐานแห่ง "สรีรวิทยา" ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งที่สำคัญของชีววิทยาที่สามารถใช้อธิบายการทำงานของระบบต่างๆ ภายในร่างกายที่เชื่อมโยงสอดประสานกัน โดยได้เปรียบการทำงานวิจัยว่า เป็นเหมือนกับการได้ผจญภัยไปในดินแดนที่ไม่เคยได้ไปมาก่อน เมื่อเริ่มต้นเป็นนักวิจัยใหม่ต้องมีพี่เลี้ยงวิจัย หรือ mentor ช่วยนำทาง ก่อนจะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญและค้นพบความรู้ใหม่เพื่อมนุษยชาติ
ผลผลิตจากภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ที่นำมาซึ่งความภาคภูมิใจแก่ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ "ปัญญาของแผ่นดิน" ล่าสุด คือ ความสำเร็จจากการที่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ สามารถส่งเสริมสนับสนุนให้วิทยานิพนธ์ของ อาจารย์ ดร.ศราวุธ ลาภมณีย์ ดุษฎีบัณฑิตจากภาควิชาสรีรวิทยา ซึ่ง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ อาจารย์ที่ปรึกษาหลักร่วมกับ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์นรัตถพล เจริญพันธุ์อาจารย์ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ และผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทริมา เจริญพันธุ์ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม สามารถคว้ารางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดีเด่น สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยาประจำปีงบประมาณ 2565 จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ได้สำเร็จ
จากประสบการณ์ในการศึกษาด้านสรีรวิทยาการออกกำลังกายในระดับปริญญาโท และได้ขยายผลสู่การศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาสรีรวิทยาระบบประสาทเชิงลึกในหน่วยวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก ภายใต้การนำของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ ผู้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาและพี่เลี้ยงวิจัย ทำให้ อาจารย์ ดร.ศราวุธ ลาภมณีย์ เกิดความสนใจที่จะศึกษาวิจัย เพื่อทดสอบกลไกการออกฤทธิ์ของยาที่ใช้บำบัดอาการเครียด วิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า โดยเปรียบเทียบกับการรับยาเสริมด้วยการออกกำลังกาย จนได้บทสรุปว่าการรับประทานยาควบคู่ไปกับการออกกำลังกายคลายเครียดให้ผลที่ดีกว่าการรับประทานยาแต่เพียงอย่างเดียว
ซึ่งการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ไม่เพียงส่งผลดีต่อวงการแพทย์ไทย แต่ยังได้ขยายผลสู่ระดับโลก เนื่องจากเป็นงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก สถาบันวิจัยแห่งชาติฝรั่งเศส ภายใต้หลักสูตรปริญญาเอกแบบสองปริญญา (double degree) มหาวิทยาลัยมหิดล-มหาวิทยาลัยสทราซบูร์ (Strasbourg University) ประเทศฝรั่งเศส และยังได้ร่วมกับบริษัทยาเอกชนยักษ์ใหญ่ต่อยอดสู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ยาวิตามิน และอาหารเสริมที่เกี่ยวข้องต่อไปอีกด้วย
อาจารย์ ดร.ศราวุธ ลาภมณีย์ ได้กล่าวยืนยันถึงผลจากการศึกษาวิจัยว่า การออกกำลังกายโดยอิสระที่ไม่ทำให้เหนื่อยจนเกินไปอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 3 - 4 วันต่อสัปดาห์ จะสามารถช่วยเสริมสร้างโปรตีนสำคัญบางตัวในสมอง ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ดังนั้น ผู้ที่เครียดหรือซึมเศร้า หากได้รับประทานยาตามแพทย์สั่ง และได้ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ จะทำให้ได้ผลการรักษาที่ดียิ่งขึ้น
ในรายที่ยังไม่ถึงกับซึมเศร้า การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอนอกจากจะช่วยลดความเครียดแล้ว ยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะซึมเศร้า และยังลดผลกระทบของความเครียดต่อการทำงานของสมองในส่วนของความจำด้วย หากเสริมด้วยการรับประทานอาหารจำพวกกล้วย มะละกอสุก ถั่ว โยเกิร์ต รวมทั้งอาหารในกลุ่ม "โพรไบโอติกส์" ที่มีเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น อาหารที่ใช้การหมักต่าง ๆ และผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ซึ่งอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ก็พบว่าสามารถช่วยลดความเครียด และวิตกกังวลได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามควรรับประทานแต่เพียงเป็นอาหารเสริม ซึ่งอาหารหลักควรได้รับอย่างสมดุลให้ครบทั้ง 5 หมู่
โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ อาจารย์ ดร.ศราวุธ ลาภมณีย์ ประสบความสำเร็จจากการศึกษาวิจัยจนคว้ารางวัลในระดับชาติ และขยายผลสู่การใช้ประโยชน์ในระดับนานาชาติได้นั้นคือ การได้ดำเนินตามรอยของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ ผู้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาและพี่เลี้ยงวิจัย ที่มุ่งทำงานวิจัยโดยคำนึงถึงผลของการนำไปใช้ประโยชน์เป็นหลัก ซึ่งผลที่ได้ไม่เพียงแต่การสร้างชื่อเสียงให้กับวงการวิทยาศาสตร์สุขภาพไทยให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลกแล้ว ยังเบิกทางสู่โอกาสในการพัฒนายาใหม่ สำหรับ มวลมนุษยชาติต่อไปได้อีกด้วย
ฐิติรัตน์ เดชพรหม มหาวิทยาลัยมหิดล