ความคืบหน้าหลัง “กรมการบินพลเรือน” อนุญาตให้บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเส้นทางบินที่ท่าอากาศยานนครราชสีมา 3 เส้นทางไป-กลับ ได้แก่ “โคราช-เชียงใหม่” สัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน “โคราช-ภูเก็ต” สัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน และ “โคราช-หาดใหญ่” สัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน
ที่โรงแรมวีวันโคราช ถนนช้างเผือก อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา พร้อมนายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ นางสาวสุรีรัตน์ ทิพย์โยธา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการท่าอากาศยานนครราชสีมาและผู้แทนภาครัฐและเอกชนรวมทั้งผู้ประกอบการ “เดอะมอลล์โคราช–เซ็นทรัลโคราช เทอร์มินอล 21โคราช” ร่วมประชุมหารือกับตัวแทนสายการบิน “นกแอร์”โดย พล.อ.อ.นพพร จันทวานิช ที่ปรึกษาบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) และนายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ถึงแนวทางการเปิดสายการบินโดยใช้ท่าอากาศยานนครราชสีมา (สนามบินหนองเต็ง) อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา
นายวุฒิภูมิ ผู้บริหารสายการบินนกแอร์ กล่าวว่า “นกแอร์” ตั้งเป้าหมายเปิดสายการบิน 3 เส้นทาง ได้แก่ โคราช-เชียงใหม่ โดยจะเปิดเส้นทางแรก ส่วนโคราช-ภูเก็ต และโคราช-หาดใหญ่ ต้องศึกษาข้อมูลความต้องการของคนโคราชก่อน “นกแอร์” มีความตั้งใจสนับสนุนและเป็นทางเลือกให้นักท่องเที่ยว นักเดินทาง นักธุรกิจและนักลงทุนให้มีความสะดวกการเดินทางมากขึ้น
โดยเครื่องบินขนาดกลาง Q400 ขนาดความจุ 86 ที่นั่ง และเครื่อง Boeing 737-800 ความจุ 189 ที่นั่ง กำหนดช่วงแรกเปิดให้บริการสัปดาห์ละ 3-4 เที่ยวบิน หากความต้องการเพิ่มจะปรับให้บริการทุกวันและขยายเส้นทางโคราช-ภูเก็ต,โคราช-หาดใหญ่ รวมทั้งโคราช- กรุงเทพมหานคร ส่วนราคาค่าโดยสารจำเป็นต้องรอดูสถานการณ์เพราะค่าน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้นมาก แต่ราคาไม่ต่ำไปกว่า 900 บาทต่อที่นั่ง
“นกแอร์” ขอรับการผ่อนปรนจากภาครัฐ 5 ข้อ ดังนี้ 1.ยกเว้นการเก็บค่าภาษีสนามบินโคราช 2.ยกเว้นการเก็บค่าขึ้นลงหรือค่าแลนดดิ้ง 3.ยกเว้นค่าจอดเครื่องบิน (Free parking) 4.ยกเว้นค่าแจ้งเตือนสัญญาณและ 5.ยกเว้นค่าเช่า สนง. และการโอเปอร์เรตให้บางส่วน เพื่อไม่ให้ผู้โดยสารแบบรับค่าใช้จ่ายมากเกินไปและขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานเอกชนต่างๆ ภาคธุรกิจ ช่วยสนับสนุนประชาสัมพันธ์หรือบัตรโดยสารภาคธุรกิจและคู่ค้าต่างๆ หน่วยงานภาคการท่องเที่ยว ททท. สนับสนุนกิจกรรมประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้มาเที่ยวโคราชและขอความร่วมมือผู้ประกอบการค้าในพื้นที่ช่วยประชาสัมพันธ์ หาพาร์ทเนอรฺ์ระยะยาว ทำกิจกรรมร่วมกันและการรับส่งผู้โดยสารไปสนามบิน
นายวุฒิภูมิ กล่าวต่อว่า กรณีเรื่องเอกสารใช้เวลาดำเนินการประมาณ 1 เดือน ความพร้อมช่วงเดือนเมษายนน่าจะเหมาะสม ส่วนค่าตั๋วโดยสารแต่ละเส้นทางขึ้นอยู่กับความต้องการเส้นทางโคราช-เชียงใหม่ หากราคาต่ำและความต้องการบินต่ำด้วยอาจจะไม่คุ้มทุนซึ่งจะขยับค่าโดยสารขึ้น เพื่อจับกลุ่มที่ต้องการและมีกำลังซื้อสูงหากได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี อนาคตจะเพิ่มเที่ยวบินทุกวัน” นายวุฒิภูมิ กล่าว
ด้านนายวิเชียร ผวจ.นครราชสีมา กล่าวว่า หน่วยงานรัฐ-เอกชนพร้อมให้การสนับสนุน “นกแอร์” เป็นการพัฒนาจังหวัดเราจะนำเสนอการขอรับการผ่อนปรนทั้ง 5 ข้อต่อกรมท่าอากาศยาน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ได้ถึงวันที่ 31 พ.ค. 65 นี้เท่านั้น แต่จะขอให้ขยายเวลาออกไป เพื่อช่วยสร้างความเจริญให้ท้องถิ่น ซึ่งมีแผนเร่งดำเนินการด่วน เพื่อให้ทันกลางเดือนมีนาคม 65 หากการขอผ่อนปรน “นกแอร์” จะได้เร่งจัดตารางการบินรวมทั้งเตรียมความพร้อมด้านอื่นให้สามารถโอเปอร์เรตทันปลายเดือนเมษายน 65 และนำคณะเข้าหารือกับ รมต.คมนาคม โดยภาคเอกชนยินดีให้การสนับสนุนการตั้งจุดจำหน่ายตั๋วเครื่องบินและการเดินทางจากตัวเมืองไปสนามบินพร้อมช่วยประชาสัมพันธ์อีกด้วย
ทั้งนี้ท่าอากาศยานนครราชสีมาหรือสนามบินหนองเต็ง ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติหนองเต็ง-จักราช ต.ท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออก ทางหลวงหมายเลข 226 ถนนเพชรมาตุคลา ประมาณ 26 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 4,625 ไร่ เป็นท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม สร้างขึ้นเพื่อใช้แทนท่าอากาศยานกองบิน 1 นครราชสีมาของกองบิน 1 นครราชสีมา ที่ใช้ในภารกิจทางการทหาร ที่ผ่านมามีสายการบินต่างๆ เช่น การบินไทย, แอร์อันดามัน, แอร์เอเชีย, แอร์ฟีนิคซ์, แฮปปี้ แอร์, ไทยรีเจียนอลแอร์ไลน์, กานต์แอร์ และนิวเจน แอร์เวย์ส มาเปิดเส้นทางบินแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ปัจจุบันท่าอากาศยานนครราชสีมาไม่มีเที่ยวบินพาณิชย์ให้บริการมานานเกือบ 4 ปี นับตั้งแต่สายการบินนิวเจนแอร์เวย์สทำการบินเที่ยวสุดท้ายเมื่อ 16 เม.ย. 2561
