วันที่ 26 ก.พ.65 นายภูวนัฐ สมใจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานในพิธีงานวางพานพุ่มดอกไม้ถวายสักการะพระรูป พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย เนื่องในวันสหกรณ์แห่งชาติ จังหวัดตรัง ประจำปี 2565 และเป็นปีแห่งการครบ 106 ปี ของการสหกรณ์ในประเทศไทย พร้อมทั้งอ่านสารนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) และมอบเกียรติบัตรแก่สหกรณ์ดีเด่นระดับจังหวัด ประจำปี 2564/2565 เกียรติบัตรแก่สหกรณ์ต้นแบบการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงระดับจังหวัด ประจำปี 2564 เกียรติบัตรสหกรณ์ที่ได้รับการจัดระดับความเข้มแข็งเป็นสหกรณ์ชั้น 1 ประจำปี 2562-2564 โดยมีนายนิด จันทร์พุ่ม ประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรย่านตาขาว ประธานการจัดงานวันสหกรณ์แห่งชาติจังหวัดตรัง กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดงานและมีหัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตร ผู้แทนสมาชิกสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรในจังหวัดตรัง และบุคลากรสำนักงานสหกรณ์จังหวัดตรัง ร่วมวางพานพุ่มถวายสักการะและเข้าร่วมพิธีทางศาสนาในครั้งนี้ด้วย มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม 150 คน ภายใต้มาตรฐานการคัดกรองโควิด-19 ณ ห้องประชุมสหกรณ์การเกษตร ย่านตาขาว จำกัด อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง
นายสมศักดิ์ บุญโยม สหกรณ์จังหวัดตรัง กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของสหกรณ์ไทย เกิดจากสภาพปัญหา ความยากจนของชาวนาช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากประเทศไทยเริ่มมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น ทำให้ระบบเศรษฐกิจชนบทค่อยๆ เปลี่ยนจากเลี้ยงตัวเอง มาเป็นระบบเพื่อการค้า ชาวนาที่ไม่มีทุนของตนเอง ต้องหันไปพึ่งพากู้ยืมเงินจากบุคคลอื่น ทำให้ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราสูง และยังถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าและนายทุน จึงตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบตลอดเวลา หนำซ้ำยังมีหนี้สินเพิ่มพูนมากขึ้นเรื่อยๆ จากสภาพปัญหาดังกล่าวทำให้ทางราชการคิดหาวิธีช่วยเหลือ ด้วยการจัดหาแหล่งทุนให้กู้และคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำ และสรุปมี 2 วิธีที่จะช่วยเหลือชาวนาในขณะนั้น คือจัดตั้งธนาคารเกษตรและวิธีการสหกรณ์ประเภทหาทุน วิธีแรกตกไป เพราะติดขัดปัญหาเรื่องเงินทุนและหลักประกันเงินกู้ จึงเห็นชอบ วิธีที่ 2 วิธีการสหกรณ์ประเภทหาทุน โดยพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย ทรงส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสหกรณ์ขึ้นเป็นแห่งแรก คือ สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้ ที่จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2459 ในขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งนายทะเบียนสหกรณ์เป็นพระองค์แรกของประเทศไทย และทรงเป็นผู้นำในการเผยแพร่อุดมการณ์ หลักการและวิธีการสหกรณ์เพื่อให้สมาชิกช่วยเหลือตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จนเป็นที่แพร่หลายไปทั่วราชอาณาจักร เป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศสืบมา
จนบัดนี้ นับเป็นเวลา 106 ปีแล้ว และด้วยพระปรีชาสามารถที่ทรงมีคุณูปการต่อระบบสหกรณ์ไทย ส่งผลให้เกษตรกรและสมาชิกพ้นจากภาวะหนี้สิน มีทุนในการประกอบอาชีพ จึงทรงได้รับการยกย่องจากขบวนการสหกรณ์ไทยว่าทรงเป็น "พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย" และเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2527 และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติกำหนดให้วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น “วันสหกรณ์แห่งชาติ” หน่วยงานภาครัฐและขบวนการสหกรณ์ไทยได้ร่วมกันจัดงาน “วันสหกรณ์แห่งชาติ” ขึ้นเป็นประจำทุกปี
การจัดงานวันสหกรณ์แห่งชาติ จังหวัดตรัง ปี 2565 นี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง ขบวนการสหกรณ์ในจังหวัดตรัง สันนิบาตสหกรณ์จังหวัดตรัง และสำนักงานสหกรณ์จังหวัดตรัง ร่วมกันจัดงาน และในปี 2565 เป็นปีแห่งการครบ 106 ปี ของการสหกรณ์ในประเทศไทย โดยจัดให้มีกิจกรรมประกอบด้วย การวางพานพุ่ม ถวายสักการะ ,การอ่านสารนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) พิธีทางศาสนา และการมอบเกียรติบัตรให้แก่สหกรณ์ดีเด่นระดับจังหวัด ประจำปี 2564/2565 จำนวน 1 สหกรณ์ คือสหกรณ์การเกษตรนาโยง จำกัด ซึ่งรอรับสหกรณ์ดีเด่นระดับภาคในโอกาสต่อไปด้วย,มอบเกียรติบัตรให้แก่สหกรณ์ต้นแบบการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงระดับจังหวัด ประจำปี 2564 จำนวน 1 สหกรณ์ คือสหกรณ์การเกษตรนาโยง จำกัด และมอบเกียรติบัตรให้แก่สหกรณ์ที่ได้รับการจัดระดับความเข้มแข็งเป็นสหกรณ์ชั้น 1 ประจำปี 2562-2564 จำนวน 15 สหกรณ์ ประเภทสหกรณ์ภาคการเกษตร ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรเมืองตรัง จำกัด,สหกรณ์การเกษตรรัษฎา จำกัด,สหกรณ์กองทุนสวนยางควนตุ้งกู จำกัด,สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านในเขา จำกัด,สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านยวนโปะ จำกัด และสหกรณ์กองทุนสวนยางหนองคล้า จำกัด ประเภทนอกภาคการเกษตร ได้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูตรัง จำกัด,สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขตรัง จำกัด,สหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลตรัง จำกัด,สหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจตรัง จำกัด,สหกรณ์ออมทรัพย์นักสหกรณ์ตรัง จำกัด,สหกรณ์ออมทรัพย์กว้างไพศาลตรัง จำกัด,สหกรณ์ออมทรัพย์โตโยต้าเมืองตรัง จำกัด,สหกรณ์ออมทรัพย์กำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอห้วยยอด จำกัด และสหกรณ์บริการพนักงานแปลนทอยส์ จำกัด
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า กลไกสำเร็จของความสำเร็จของสหกรณ์มาจาก 3 ส่วนด้วยกัน ประกอบด้วย ตัวสมาชิกของสหกรณ์ คณะกรรมการสหกรณ์และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้จะต้องร่วมมือประสานการดำเนินกิจการสหกรณ์ให้เป็นไปด้วยดี ภายใต้ธรรมาภิบาล โดยมีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นผู้กำกับดูแล ในฐานะนายทะเบียน ให้คำแนะนำ ส่งเสริมการดำเนินงานกิจการของสหกรณ์ในเรื่องต่างๆ ภายใต้กรอบของกฎหมาย
"ทั้ง 3 ส่วนนี้จะต้องร่วมด้วยช่วยกัน แต่ละส่วนต้องรู้จักหน้าที่ของตัวเองว่าตัวเองมีหน้าที่อะไรบ้าง สมาชิกต้องรู้จักสิทธิและหน้าที่ในฐานะสมาชิกของสหกรณ์ คณะกรรมการซึ่งได้รับเลือกจากสมาชิกก็ต้องดูแลทรัพย์สิน ดูแลสมาชิกให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในส่วนของเจ้าหน้าที่ก็ต้องมีหัวจิตหัวใจในการให้บริการ ดูแลให้บริการแก่สมาชิกในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในส่วนของเงินทุนสหกรณ์ ต้องไม่ให้ได้รับความเสียหาย"สหกรณ์จังหวัดตรัง กล่าว
และโอกาสนี้ประธานในพิธีได้กล่าวพบปะทักทายและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่และเครือข่ายสหกรณ์สหกรณ์จังหวัดตรัง รวมทุกประเภทกว่า 75 แห่ง ให้สหกรณ์มีบทบาทสำคัญในการช่วยแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้สมาชิกมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสอดคล้องกับแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในห้วงสถานการณ์การปรับตัวในรูปแบบวิถีใหม่ new normal ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 และเยี่ยมชมกิจการสหกรณ์การเกษตรย่านตาขาว จำกัด ด้วย