วันที่ 25 ก.พ.65 นายอดุลย์ คนมั่น สหกรณ์จังหวัดชลบุรี เป็นประธานในพิธี วางพุ่มสักการะพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ “พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย” เนื่องในวันสหกรณ์แห่งชาติ ประจำปี 2565 ณ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ที่ 3 จังหวัดชลบุรี นายอดุลย์ คนมั่น สหกรณ์จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี ให้วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็นวันสหกรณ์แห่งชาติ เพื่อรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ “พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย” สำหรับสหกรณ์ไทยได้ถือกำเนิดมาจากปัญหาในปลายสมัยรัฐกาลที่ 5 ซึ่งขณะนั้นอาชีพหลักของประเทศ คือ เกษตรกรรม เมื่อมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น ทำให้ระบบเลี้ยงตัวเองในชนบท มาสู่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อการค้า ความต้องการเงินทุนเพื่อขยายการผลิตและการครองชีพเพิ่มมากขึ้น ประชากรส่วนใหญ่ 85 เปอร์เซ็นต์เป็นเกษตรกรอยู่ในฐานะยากจน ขาดแคลนเงินทุนต้องกู้หนี้ยืมสินจากพ่อค้านายทุน ซึ่งมักจะถูกเอารัดเอาเปรียบทำให้ชาวไร่ชาวนาเสียเปรียบเป็นอย่างมากในระยะแรก การสหกรณ์ในประเทศไทยเริ่มต้นด้วยการทดลองจัดตั้งสหกรณ์ประเภทหาทุนขึ้น เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2459 ชื่อว่า สหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้ ที่จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งถือเป็นกำเนิดสหกรณ์ขึ้นในประเทศไทย ต่อมาได้แพร่ขยายไปทั่วประเทศ ส่งผลให้เกษตรกรและสมาชิกสหกรณ์ พ้นจากภาวะหนี้สิน มีทุนในการประกอบอาชีพ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งในการจัดงานวันสหกรณ์แห่งชาติ ประจำปี 2565 ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนรับรู้ เข้าใจการสหกรณ์ พร้อมทั้งนำไปใช้ในวิถีชีวิตและการดำเนินงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศชาติอย่างยั่งยืน นายอดุลย์ คนมั่น สหกรณ์จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า สหกรณ์เป็นระบบที่ยึดมั่นอุดมการณ์การช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นพลังที่สามารถแก้ไขปัญหาและพัฒนาได้ในทุกเรื่อง เป็นเครื่องมือของรัฐ ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การอยู่ดี กินดี มีสุขของปะชาชนได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน ซึ่งประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ใช้การสหกรณ์เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประทศ จนเป็นที่ยอมรับกัน อย่างกว้างขวาง สำหรับการสหกรณ์ในประเทศไทยนั้นได้มีการพัฒนามาโดยตลอดการส่งเสริมและพัฒนา งานสหกรณ์ในประเทศต้องให้ความสำคัญและคำนึงถึงประโยชน์ที่สมาชิกได้รับเป็นลำดับแรกมีระบบการตรวจสอบ ประเมินผล ประเมินความคุ้มค่า เพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์เป็นงานที่ต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐและขบวนการสหกรณ์ โดยภาครัฐในฐานะเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ต้องเป็นบุคลากรผู้ที่มีความรอบรู้เชิงวิชาการ สามารถให้คำแนะนำ ประสานความร่วมมือ รวมคิด วิเคราะห์ ได้เป็นอย่างดี ส่วนทางด้านขบวนการสหกรณ์สมาชิกสหกรณ์ภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตรต้องพัฒนาตนเองอยู่เสมอ และสหกรณ์ในฐานะที่เป็นองค์กรทางธุรกิจต้องมีการเรียนรู้ให้มากขึ้น ก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงยึดมั่นในความเป็นองค์กรทางธุรกิจในรูปแบบของสหกรณ์ให้ได้ต่อไป ซึ่งในปี 2565 ขบวนการสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมเนื่องในวันสหกรณ์แห่งชาติ โดยมีกิจกรรมวางพุ่มสักการะพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย กิจกรรมบริจาคโลหิตและบริจาคสิ่งของ ณ ภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 3 จังหวัดชลบุรี สภากาชาดไทย กิจกรรมบริจาคสิ่งของและทุนทรัพย์ ให้แก่ศูนย์ส่งเสริมทักษะชีวิตบุคคลออทิสติก จังหวัดชลบุรี กิจกรรมจำหน่ายสินค้าของสหกรณ์และ กลุ่มเกษตรกรในจังหวัดชลบุรี และนิทรรศการเผยแพร่อุดมการณ์ หลักการ วิธีการสหกรณ์ เป็นต้น