ทัศนะ/วัฒนรักษ์([email protected]): “Bangkok...คือบางกอกหรือบางเกาะ”
หลังจากที่ ครม.มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมชื่อภูมิศาสตร์สากลได้ปรับปรุงแก้ไขการกำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง ใต้ปีกของราชบัณฑิตยสภา ที่จะเปลี่ยนชื่อกรุงเทพฯ ในภาษาอังกฤษ จาก " Bangkok" เป็น "Krung Thep Maha Nakhon" โดยให้เหตุผลในการประกาศเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ว่าเพื่อให้ถูกต้องและชัดเจน อีกทั้งจะได้ใช้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน
ที่น่าสนใจก็คือในขณะที่การที่จะจัดการประกาศเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษของเมืองหลวงประเทศไทยในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์อย่างชัดเจนว่าเพื่อจะได้นำไปใช้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน แต่คำว่า “กรุงเทพมหานคร” ยังคงใช้ว่า “KrungThep Maha Nakhon” หรือ “Bangkok” ได้เป็น 2 คำ ซึ่งยิ่งพาให้สับสนและวุ่นวายไปกว่าเดิม จึงส่งผลให้กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของผู้คนโดยทั่วไปอย่างกว้างขวาง ซึ่งมีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยตามเหตุผลที่มีแตกต่างกันออกไป
ก่อนที่จะมาพูดถึงที่มาและที่ไปในมิติอื่น คงต้องทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่าชื่อเมืองหลวงของประเทศไทยในปัจจุบันนี้ มีชื่อเต็มๆ อย่างเป็นทางการว่า “กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” เมื่อถอดเป็นอักษรโรมัน จะได้ว่า “Krungthepmahanakhon Amonrattanakosin Mahintharayutthaya Mahadilokphop Noppharatratchathaniburirom Udomratchaniwetmahasathan Amonphimanawatansathit Sakkathattiyawitsanukamprasit” มีจำนวนทั้งสิ้น 169 ตัวอักษร อันเป็นเหตุให้กินเนสบุ๊คต้องบันทึกไว้เป็นสถิติว่า “เป็นชื่อสถานที่ที่ยาวที่สุดในโลก”
ที่ต้องเน้นว่า “ชื่อในปัจจุบัน” ก็เนื่องจากเหตุที่กว่าจะมีชื่อดังกล่าวข้างต้นนั้น นามเมืองนี้มีการแก้ไขและปรับเปลี่ยนมาโดยลำดับ นับแต่นามเดิมที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ พระราชทานในตอนแรกนั้น ใช้ชื่อว่า “กรุงรัตนโกสินทร์อินท์อโยธยา” ต่อมาในในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแก้นามพระนครเป็น “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินท์ มหินทอยุธยา” จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนคำว่า บวร เป็น อมร เปลี่ยนคำว่า มหินทอยุธยา โดยวิธีการสนธิศัพท์เป็น มหินทรายุธยา และเติมสร้อยนามต่อ ทั้งเปลี่ยนการสะกดคำ สินท์ เป็น สินทร์ และมีฐานะในการปกครองส่วนท้องถิ่นเป็น จังหวัดพระนคร ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2514 รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจรได้รวม จังหวัดพระนคร และ จังหวัดธนบุรี เข้าด้วยกันเป็น นครหลวงกรุงเทพธนบุรี และภายหลังการปรับปรุงการปกครองใหม่เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515 จึงได้เปลี่ยนเป็นชื่อเป็น กรุงเทพมหานคร แต่ทุกวันนี้ประชาชนคนทั่วไปล้วนนิยมเรียกเมืองแห่งนี้กันว่า “กรุงเทพฯ” ทั้งสิ้น
คราวนี้ลองย้อนกลับไปดูชื่อเสียงเรียงนามในภาษาต่างประเทศของเมืองหลวงแห่งนี้ในอดีต ก็จะเห็นได้ว่าในแผนที่ทะเลและแผนที่ครั้งโบราณที่ชาวต่างประเทศได้ทำไว้แต่สมัยกรุงศรีอยุธยาปรากฏชื่อของบางกอก โดยสะกดไว้อย่างหลากหลาย อาทิ Bangkok , Bancoc , Bancok , Banckok , Bankoc , Banckock , Bangok , Bancocq , Bancock ก็มี และในบางแผ่นเขียนคำว่า Siam อันหมายถึงประเทศสยามไว้ตรงที่ตั้งของบางกอก ในขณะที่มีคำว่า Judia , Odia, Juthia , Ajothia ,Odiaa อยู่เหนือขึ้นไปในตำแหน่งที่ตั้งของกรุงศรีอยุธยา
นายขจร สุขพานิช ได้ให้ความเห็นไว้ในบทความเรื่อง “บางเกาะ-เกาะรัตนโกสินทร์” ว่า ปกติเป็นคำที่ฝ่ายสังฆราชผู้เป็นใหญ่ในคริสต์ศาสนาที่กรุงศรีอยุธยาใช้เมื่อเขียนถึงบางกอก ทุกครั้งที่ท่านเขียนรายงานไปยังสำนักงานใหญ่ที่กรุงปารีส และได้ใช้เรื่อยมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
จากบทความดังกล่าว นอกจากจะบอกถึงที่มาของการกำหนดใช้ Bangkok เป็นมาตรฐานในการเรียกชื่อเมืองหลวงแห่งนี้แล้ว ยังมีคำอีกคำหนึ่งที่ชวนให้ขบคิดต่อเนื่องว่า แท้ที่จริงแล้วชื่อดั้งเดิมที่ใช้เรียกดินแดนบริเวณที่ตั้งเมืองนี้แต่ครั้งอดีต คือ ”บางกอก” หรือ “บางเกาะ” กันแน่
ที่มาของชื่อ “บางกอก” และ “บางเกาะ” นั้น มีข้อสันนิษฐานว่าอาจมาจากการที่แม่น้ำเจ้าพระยาคดเคี้ยวไปมา บางแห่งมีสภาพเป็นเกาะเป็นโคก จึงเรียกกันว่า “บางเกาะ” หรือ “บางโคก” หรือไม่ก็เป็นเพราะชุมชนที่อยู่อาศัยริมน้ำและมีลำคลองไหลเข้าไปหล่อเลี้ยงบริเวณนี้มีจุดเด่นอยู่ที่มีต้นมะกอกอยู่มาก จึงเรียกว่า “บางมะกอก” โดยหลักฐานที่ชี้ชัดคือวัดอรุณราชวราราม ที่ตั้งอยู่ปากคลองในบางนี้ เดิมมีชื่อว่า “วัดมะกอกนอก” ส่วนวัดนวลนรดิศวรวิหารที่อยู่ลึกเข้าไปในคลองสายเดียวกัน เดิมชื่อ “วัดมะกอกใน” และต่อมาชื่อของบางได้กร่อนคำลงจึงเหลือแต่คำว่า “บางกอก”
มาถึงตรงนี้ หากจะให้แสดงความคิดเห็นกับเกี่ยวกับกรณีการเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษของกรุงเทพฯ ดังกล่าว ก็คงต้องขอให้คณะของผู้เกี่ยวข้องใช้วิจารณญาณบนความเป็นจริงกับโลกปัจจุบัน คือ สังคมทุกวันนี้ความกระชับ สั้น ชัดเจน เข้าใจง่าย จึงไม่ควรแก้ไขอะไรแล้วยิ่งยืดยาวเยิ่นเย้อ เพราะจะมีผลกระทบกับการกำหนดอักษรย่อในระบบดิจิทัลและเอกสารอิเล็กทรอนิกส์อีกมากมาย เพราะ Bangkok มีอักษรเพียง 5 ตัว ในขณะที่ Krung Thep Maha Nakhon มีถึง 18 ตัว ทั้งนี้ยังไม่ได้มองเลยไปถึงการที่ต้องแก้ไขแผ่นป้ายในที่สาธารณะอีกจำนวนมหาศาล
ขอนำเรื่องราวในอดีตมาเทียบเคียงเป็นกรณีศึกษาสักนิด เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระอักษรไปถึงพวกฝรั่ง พระองค์ใช้คำว่า Bangkok ในความหมายของกรุงทพฯ ตามที่พวกสังฆราชฝรั่งเศสใช้ และเราก็ได้ใช้ชื่อนี้เป็นมาตรฐานเรื่อยมา ทั้งๆ ที่ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวคนไทยนิยมเรียกขานนามเมืองแห่งนี้ว่า “พระนคร” จนติดปากแทนบางกอกแล้ว
หากจะให้เห็นถึงความเป็นไทยอย่างถูกต้องเป็นปัจจุบัน เราหันมาช่วยกันแก้ไขวิธีการออกเสียงคำว่า “Bangkok” จากเสียงที่ชาวต่างชาติมาทำให้คนไทยต้องออกเสียงผิดๆ ว่า “แบ๊งก์ค็อค” ให้กลับมาเป็น “บางกอก” ซึ่งเป็นเสียงไทยๆ กันเสียที ท่านว่าวิธีนี้น่าจะดีและง่ายกว่าไหม