เล่าความหลังสยามรัฐ / ทองแถม นาถจำนง: การต่อสู้กับรัฐบาลจอมพล ป. เมื่อออกสยามรัฐใหม่ๆ (6) สุกัญญา สุดบรรทัด ข้อเขียนของคึกฤทธิ์ยังเป็นฝ่ายรัฐบาล ซึ่งอันที่จริงคึกฤทธิ์ได้ร่วมรัฐบาลจอมพล ป.ถึง 2 ครั้ง ประชาชนคนอ่านนั้น เห็นได้ว่าอยากให้คึกฤทธิ์ต่อสู้เพื่อพวกเขา เกรงว่าคึกฤทธิ์จะไปเป็นสมัครพรรคพวกของรัฐบาล และไม่ได้มาเป็นปากเสียงองพวกเขาอีก ในวันที่ 9 กันยายน 2493 มีคนเขียนมาถามใน “ปัญหาประจำวัน” ว่า “รัฐบาลท่านจอมพลเป็นรัฐบาลทีตัดสินใจในเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้อย่างรวดเร็วเสมอ และทุกครั้งท่านคิดไหมว่าอาจจะเกิดผิดพลาดได้บ้าง และทราบว่าอย่างอินเดีย พม่า ฟิลิปปินส์ เขาเป็นชาติที่ได้รับเอกราชทีหลังเรา แต่เขามีนโยบายแน่วแน่เป็นตัวของตัวเองเป็นอย่างงดี” คึกฤทธิ์ชี้แจงให้ผู้อ่านทราบว่า ตัวเขาเองนั้นมีความสนิทชิดเชื้อกับจอมพล ป. เป็นอย่างมาก ในตอนนี้ต้องปล่อยให้จอมพลบริหารประเทศไปก่อน แต่หากเมื่อไรจอมพลทำอะไรไม่ถูกต้อง เขาก็จะอยู่นิ่งไม่ได้ เขาตอบว่า “คนทุกคนย่อมมีผิดพลาดได้เสมอ ฉะนั้น รัฐบาลจอมพลก็อาจจะผิดพลาดได้บ้างเป็นธรรมดา นโยบายของอินเดีย พม่าและฟิลิปปินส์ ที่คุณสรรเสริญว่าแน่วแน่เป็นตัวของตัวเองนั้นอาจผิดพลาดได้เหมือนกัน เพราะเนรูห์ หรือ ตะขิ่นนุ แกก็เป็นคนอย่างจอมพลเรานี่แหละ และดูจะไม่น่าเอ็นดูเท่าจอมพลเราด้วยซ้ำ” เหตุการณ์บ้านเมืองในเวลานั้นกำลังคืบคลานเข้าสู่ยุค “ทมิฬ” ข้าวยากหมากแพง กรมตำรวจกำลังสร้างอิทธิพลล้นฟ้า ผู้คนพากันสาปแช่ง “ผู้กว้างขวาง” ขณะนั้นคึกฤทธิ์กล่าวว่าเขาพยายามรักษาความเป็นกลาง แต่ให้สัญญากับประชาชนว่า หากจอมพลทำผิดเมื่อไร “จะจัดการเอง” วันที่ 16 พฤศจิกายน 2493 มีคนเขียนมาถามว่า กล้าด่าจอมพล ป. หรือไม่ คึกฤทธิ์ตอบว่า “ผมทำหนังสือพิมพ์อยากจะให้เป็นกลางจริงๆ ฉะนั้น อะไรดีก็ต้องชม อะไรไม่ดีก็ต้องตำหนิ ผมต้องตอบอย่างนี้ ทั้งๆ ที่คุณห้ามอย่าเอาเปรียบ การด่าคนนั้นง่ายที่สุด ใครๆ ก็ทำได้ ผมรู้ดีว่าคนส่วนมากกำลังเขม่นตำรวจ หาว่า “เบ่ง” บ้างอะไรบ้าง แต่ถ้าตำรวจเล่นหนังดีก็บอกว่าดีอย่างนี้..” “จอมพลนั้นไม่เคยกลัวมาเลย และต่อไปก็ไม่เชื่อว่าจะกลัว คนที่ชอบพูดกัน พูดจาเล่นหัวหยอกล้อกันได้มาเป็นเวลาช้านานนั้น กลัวกันไม่ลงดอกคุณ ถ้าเห็นว่าจอมพลทำอะไรที่จะให้เสียหายกับบ้านเมืองจริงๆ เมื่อไรละก็ ผมจัดการเอง พูดไปมากเดี๋ยวจะหาว่าคุยเขื่องอีกเท่านั้น” ภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. เต็มไปด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2494 เกิดกบฏ แมนฮัตตัน” โดย น.ต มนัส จารุภา ใช้ปืนจี้จอมพล ป พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ไปควบคุมไว้ในเรือรบหลวงศรีอยุธยา ขณะกำลังทำพิธีมอบเรือขุดแมนฮัตตัน แต่ฝ่ายรัฐบาลได้ปราบปรามจนราบคาบ จากนั้นรัฐบาลได้ตรวจตราสอดส่องหนังสือพิมพ์เป็นพิเศษ ตามประสาของรัฐบาลที่เริ่มจะมีความรู้สึกไม่มั่นคงในสถานะของตน และกลุ่มคนที่มักจะถูกควบคุมเป็นพิเศษก็คือหนังสือพิมพ์ ลวดลายของเผด็จการเริ่มเผยโฉมเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ แม้สยามรัฐเองก็หนีไม่พ้นกระแสบีบคั้นนั้นๆ เมื่อรัฐบาลใช้อำนาจเผด็จการ คึกฤทธิ์ก็เริ่มต่อต้าน แต่วิธีของขาดูออกจะแปลกประหลาด ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร คือ เขาต่อสู้ด้วยอารมณ์ขัน กระทบกะเทียบเปรียบเปรยจนกระแสการบีบคั้นผ่านพ้นไป สยามรัฐก็กลับมาเขียนในรูปแบบปกติ สยามรัฐ ส่องกระจกให้เห็นเหตุการณ์ที่ขัดเจนว่า คนสมัยนั้นเกลียดรัฐบาล ความเกลียดนั้นได้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลายิ่งผ่านพ้นไป รัฐบาลเองก็ได้สำเหนียกถึงความรู้สึกที่เป็นอันตรายเช่นนั้น ถึงกับให้คนในคณะรัฐบาลออกมาแสร้งหามูลเหตุ แต่ท่านผู้นั้นจะกลับไปรายงานต่อรัฐบาลว่ากระไรก็ไม่มีใครทราบ และรัฐบาลก็ยังไม่ได้มีทำทีว่าจะเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เป็นไปในทางที่ดี ซ้ำยังจะเปลี่ยนไปในทางที่สร้างความเบื่อให้แก่คึกฤทธิ์ นั่นคือการที่หัวหน้ารัฐบาลมีท่าทีจะยึดอำนาจและมีอาการเหมือนจะเป็นข้าพระยานาหมื่นมากขึ้นเรื่อยๆ พ.ศ. 2495 คึกฤทธิ์เริ่มทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนคือหันมา “จัดการ” กับรัฐบาลท่านจอมพล "วิธี “จัดการ” ของเขานั้นเหมือนจะนำมาซึ่งความสนุกสนานครื้นเครงด้วยอารมณ์ขัน แต่เมื่อเป็นอารมณ์ขันเชิงเสียดสี คนที่หัวเราะไม่ออกก็คือท่านจอมพล ที่คึกฤทธิ์ได้เคยอ้างว่ามีความสนิทสนมกับเขาเป็นอย่างยิ่งนั่นเอง" วันที่ 18 ธันวาคม 2495 ผู้ใช้นามปากกา “หนุ่ม” ได้เขียนมาถามว่า “จอมพล ป.ของเราควรที่จะเป็นรัฐบุรุษหรือยัง” คึกฤทธิ์ตอบว่า “ทานจอมพลท่านเป็นรัฐบุรุษมาตั้งนานแล้ว คุณยังไม่รู้จักหรือ ป่านนี้ท่านก็ร่วมๆ มหาบุรุษเข้าไปแล้ว” จดหมายผู้อ่าน แสดงความเบื่อหน่ายรัฐบาล เกลียดชังรัฐบาลที่ใช้อำนาจไม่เป็นธรรม บางคนเขียนมาบอกคึกฤทธิ์ว่า ประเทศไทยปัจจุบันนี้ มีบุคคลบางคนถือสิทธิ์เป็นเจ้าของฝ่ายเดียว จึงอยากจะ “สละสิทธิ์การเป็นราษฎรในเมืองไทยต่อไป เพราะรำคาญเต็มทน” (9 เมษายน 2495) จดหมายบางฉบับตำหนิรัฐบาลที่เซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ ว่าเป็นการสั่นสะเทือนฐานันดร 4 โดยตรง “ผมคิดว่าไม่ควรมีฐานันดรนี้เสียไม่ดีหรือ ? เพราะมนุษยธรรมอยู่ที่ลูกปืนเป็นอำนาจเสียแล้ว”