ไทยคว้ารางวัลหลุยส์ปาสเตอร์ และอีก 3 รางวัลด้านหม่อนไหมระดับโลก จากคณะกรรมาธิการหม่อนไหมระหว่างประเทศ (ISC) วันที่ 24 ก.พ.65 นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า กรมหม่อนไหมเป็นหน่วยงานที่ขับเคลื่อนพัฒนางานด้านหม่อนไหมทั้งในประเทศไทยและในระดับนานาชาติ ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เป็นสมาชิกของคณะกรรมาธิการหม่อนไหมระหว่างประเทศ (International Sericulture Comission : ISC) ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย เป็นหน่วยงานในเครือภายใต้องค์การสหประชาชาติในการพัฒนาโดยรวมของอุตสาหกรรมไหม รวมถึงการให้ความช่วยเหลือพหุภาคี สำหรับการพัฒนาทักษะและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงการการพัฒนาอุตสาหกรรมหม่อนไหมผ่านการประสานงานของประเทศต่างๆ องค์กรระหว่างประเทศ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระดับโลก รวมทั้งการพิจารณารางวัลหลุยส์ปาสเตอร์ ซึ่งเป็นรางวัลระดับนานาชาติ และเป็นรางวัลโนเบลของอุตสาหกรรมไหม ที่มอบให้กับผู้ที่ทำคุณประโยชน์ต่อวงการหม่อนไหมทั่วโลกในทุกๆ 3 ปี เพื่อระลึกถึง เซอร์หลุยส์ ปาสเตอร์ ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของประเทศฝรั่งเศส ทั้งนี้ คณะกรรมการ ISC ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลหลุยส์ปาสเตอร์ แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อปี 2545 สำหรับปี 2565 คณะกรรมการ ISC ได้พิจารณามอบรางวัลหลุยส์ปาสเตอร์ให้แก่นางสมหญิง ชูประยูร อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านส่งเสริมการผลิตและจัดการการผลิตหม่อนไหม กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีผลงานโดดเด่นในการขับเคลื่อนงานด้านหม่อนไหมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในประเทศไทย นับเป็นคนไทยคนที่ 6 ที่ได้รับรางวัลดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีผู้ได้รับรางวัลดีเด่นด้านหม่อนไหม อีก 3 สาขา จาก 4 สาขา ได้แก่ 1.นายสมชาย ลือมั่นคง อดีตนักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ กรมหม่อนไหม ได้รับรางวัลดีเด่นสาขาการพัฒนาพืชอาศัยของหนอนไหม 2.นายมีชัย แต้สุจริยา ปราชญ์หม่อนไหม ผู้ก่อตั้งบ้านคำปุนและพิพิธภัณฑ์คำปุน จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับรางวัลดีเด่นสาขาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวรังไหมและหลังการสาวไหม 3.ผศ.ดร.สมชาย จอมดวง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับรางวัลดีเด่นสาขาผลิตภัณฑ์จากหนอนไหมและอุตสาหกรรมไหมที่ไม่ใช่สิ่งทอ โดยจะมีพิธีมอบรางวัลดังกล่าวในการประชุมวิชาการหม่อนไหมโลกครั้งที่ 26 ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 7-11 กันยายน 2565 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และสัตวแพทยศาสตร์แห่งคลูช-นาโปกา เมืองคลูช-นาโปกา ประเทศโรมาเนีย "กรมหม่อนไหมได้ขับเคลื่อนงานหม่อนไหมทั้งในประเทศและในระดับนานาชาติมาอย่างยาวนาน บุคลากรกรมหม่อนไหมและบุคคลในแวดวงหม่อนไหมได้ร่วมกันสร้างคุณประโยชน์แก่เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม พัฒนาวงการหม่อนไหมไทยให้เจริญก้าวหน้าจนมีชื่อเสียงเป็นที่ประจักษ์ และได้รับรางวัลอันทรงเกียรติมาอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้"อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าว