ด้วยรูปแบบการพัฒนาเมืองตามโรดแมปของจังหวัดเพชรบุรี ระยะ 5 ปี ตั้งแต่ 2565-2569 ตามกฎเกณฑ์ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UCCN) เมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมาจะต้องดำเนินงานรวม 55 โครงการ เพื่อสร้างมาตรฐานให้กับทุกภาคส่วน และเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่ดีมีทรัพยากรใช้อย่างไม่มีวันหมด ขณะที่ภาคเอกชนและผู้ประกอบการโรงแรมจะต้องมีการเพิ่มเมนูอาหารที่เป็นอาหารถิ่นเพื่อตอบสนองการที่จังหวัดได้เข้าเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของการเป็นเมืองสร้างสรรค์ทางด้านอาหารของจังหวัดเพชรบุรี ระยะ 5 ปีแผนงาน 55 โครงการ ซึ่งในเรื่องนี้ นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท.จึงได้มอบหมายให้ นางสาววัชรี ชูรักษา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ อพท.เป็นผู้แทนในกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ Creative City Change Management (3CM) ภายใต้กิจกรรมขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จังหวัดเพชรบุรี โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังผ่านระบบออนไลน์ และออฟไลน์ กว่า 300 คน โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง อพท. จังหวัดเพชรบุรี มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ทั้งในและต่างประเทศจำนวน 7 เมือง ได้แก่ เมืองภูเก็ตและเมืองสุโขทัย (ประเทศไทย) เมืองอุซูกิและเมืองสึรุโอกะ (ประเทศญี่ปุ่น) เมืองเชิงตูและเมืองมาเก๊า (ประเทศจีน) และเมืองโอเวอร์แสตรนด์ (ประเทศแอฟริกาใต้) โดย นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กล่าวต่อว่า การพัฒนาเมืองตามแผนงาน (Roadmap) ระยะ 5 ปีนับจากนี้ไป ในฐานะเป็นเมืองสร้างสรรค์ทางด้านอาหารจึงต้องมีแผนงานจัดการเพื่อการพัฒนาเมืองให้เกิดความยั่งยืน เพราะรายได้หลักของผู้คนในจังหวัดนี้มาจากการทำเกษตรกรรม ฉะนั้นจะต้องรณรงค์ให้เกิดเกษตรอินทรีย์ ปลอดยาฆ่าแมลงและสิ่งปนเปื้อนต่างๆ เช่น การเพาะหอยในทะเลโดยใช้ยางรถยนต์เป็นที่เกาะนั้นก่อให้เกิดสารปนเปื้อน ซึ่งในเรื่องนี้ทางจังหวัดจะต้องให้ความรู้และนำเสนอสิ่งใหม่ให้แก่ผู้เลี้ยงหอย เป็นต้น รวมถึงการสร้างสรรค์เมนูอาหารใหม่ๆ ที่ทำจากวัตถุดิบในท้องถิ่น เพื่อตอกย้ำความสร้างสรรค์ทางด้านอาหารให้มีความหลากหลายและยั่งยืน ทั้งนี้ภายใน 5 ปีนี้จะต้องดำเนินงานรวม 55 โครงการ เพื่อสร้างมาตรฐานให้กับทุกภาคส่วน และเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่ดี มีทรัพยากรใช้อย่างไม่มีวันหมด สำหรับจังหวัดเพชรบุรีได้รับเลือกเข้าเป็นเครือข่าย มาจากความมุ่งมั่นและตั้งใจดำเนินงานในหลายๆ กิจกรรม และมีการจัดกิจกรรมระดับนานาชาติทางด้านอาหาร กิจกรรม Creative City Change Management เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของเมืองสร้างสรรค์ และประกาศถึงความตั้งใจของเมืองในการเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network – UCCN) มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาและสร้างสรรค์จังหวัดเพชรบุรี ผ่านกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เปิดมุมมองใหม่กับเครือข่ายยูเนสโก โดยทาง ดร. ตติยาพร จารุมณีรัตน์ ผู้ประสานงานเมืองสร้างสรรค์จังหวัดภูเก็ต ได้กล่าวถึงการพัฒนาของเมืองภูเก็ตในฐานะเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของยูเนสโกเช่นกัน ว่า ได้ต่อยอดสินทรัพย์ด้านอาหารของเมืองที่มีอยู่ดั้งเดิมและส่งเสริมการใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่า ด้วยการจัดอบรมผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปให้ตระหนักถึงความสำคัญของอาหารต่อการพัฒนาเมือง เพื่อผลักดันให้มีการรังสรรค์เมนูอาหารที่แปลกใหม่ การพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยี และโซเชียลมีเดียในการทำการตลาด เผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นและเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้ในโลกยุคใหม่ การให้ความสำคัญกับการรวบรวมข้อมูลเรื่องราวความเป็นมาของแหล่งวัตถุดิบอาหาร เพื่อนำมาวิเคราะห์เป็นแนวทางในการบริหารเมืองสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน ขณะที่ประเทศสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของยูเนสโก ที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในครั้งนี้ มีนางสาว ฟรีด้า ลอยด์ ผู้แทนจากเมืองโอเวอร์แสตรนด์ ประเทศแอฟริกาใต้ กล่าวว่า ข้อดีของการเป็นเมืองสร้างสรรค์ไม่ได้เป็นเพียงการได้พัฒนาเมืองของตัวเองเท่านั้น แต่ยังสามารถขยายการดำเนินงานไปในระดับภูมิภาค ซึ่งที่ผ่านมา เมืองโอเวอร์สแตนด์ ก็ได้ดำเนินการเช่นนั้น และปัจจุบันยังได้เป็นศูนย์กลางด้านอาหารของภูมิภาคเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ทั้งอุตสาหกรรมอาหารและการท่องเที่ยว ส่วน นางสาวอเล็กซิส ครัมป์ ผู้แทนจากเมืองสึรุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า สึรุโอกะ เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารของยูเนสโก ที่คำนึงถึงการผลิตที่รักษาสมดุลระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ โดยพยายามสร้างความตระหนักร่วมกันตั้งแต่ต้นทาง คือผู้ผลิตวัตถุดิบ ไปจนถึงปลายทาง อีกทั้งยังมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการประชาสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์ ได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย