องคมนตรี ลงพื้นที่ติดตามตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สนองพระราชดำริ สืบสาน รักษา ต่อยอด ในรัชกาลที่ 10 วันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ เพิ่มเกษร รองเลขาธิการ กปร. และคณะอนุกรรมการฯ ลงพื้นที่จังหวัดชุมพร ติดตามการดำเนินงาน และการบริหารจัดการน้ำโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราโชบายให้คณะกรรมการฯ ติดตาม เร่งรัด และขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อสร้างประโยชน์สุขให้แก่ราษฎร เวลา 10.00 น. องคมนตรี และคณะฯ เดินทางไปยังโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพรตามแนวพระราชดำริ ณ ห้องประชุมอาคารศูนย์เรียนรู้โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ ตำบลบางลึก อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร เพื่อติดตามการดำเนินงานและผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นโดยรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการฯ ตลอดจนปัญหาอุปสรรค การนี้ องคมนตรี ได้ให้ข้อเสนอแนะโดยขอให้ร่วมกันบูรณาการการดำเนินงานรวมทั้ง ชี้แจงถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ส่วนรวม จากนั้นคณะฯ เยี่ยมชมห้องโมเดลโครงการฯ พร้อมกับพบปะพูดคุยกับราษฎรที่อยู่ในพื้นที่โครงการฯ โอกาสนี้ได้ปล่อยพันธุ์ปลาน้ำจืดเพื่อแพร่ขยายพันธุ์ต่อไป โครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพรตามแนวพระราชดำริ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2540 เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวชุมพรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยให้เร่งรัดขุดคลองหัววัง – พนังตัก ที่ค้างอยู่ 1,460 เมตร ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต และได้พระราชทานทุนทรัพย์จากมูลนิธิชัยพัฒนาจำนวน 18 ล้านบาท ให้กรมชลประทาน ยืมไปดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำ จำนวน 3 แห่ง และสามารถระบายน้ำได้ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2540 ก่อนพายุลินดาจะเข้าเพียง 1 วัน ส่งผลให้ประชาชนชาวชุมพร รอดพ้นจากอุทกภัยนับแต่นั้นเป็นต้นมา ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2541 พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติม ดังนี้ 1) ควรพิจารณาก่อสร้างอาคารบังคับน้ำปิดต้นคลองและปลายคลองที่ขุดในบริเวณหนองใหญ่เพื่อเก็บน้ำไว้ให้ราษฎรใช้ทำการเกษตรในฤดูแล้ง 2) ควรจัดตั้งสถานีวัดระดับน้ำเพิ่มเติมพร้อมระบบเตือนภัยที่บริเวณต้นน้ำคลองท่าแซะ ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 3) ควรพิจารณาขุดคลองหรือวางท่อเชื่อมต่อระหว่างคลองท่าแซะกับต้นคลองละมุ 4) ควรติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่บริเวณประตูระบายน้ำราชประชานุเคราะห์ 1, 2 และ 3 เพื่อช่วยสูบน้ำออกจากหนองใหญ่ลงคลองระบายน้ำหัววัง – พนังตัก ทิ้งลงทะเลในช่วงฤดูน้ำหลาก และ 5) ควรศึกษาหาปริมาณน้ำท่าที่แน่นอนที่ไหลในคลองท่าตะเภา เพื่อใช้แก้ไขปัญหาอุทกภัย ปัจจุบันได้มีการวางแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการฯ อาทิ การขุดคลองระบายน้ำต่าง ๆ (คลองผันน้ำคลองชุมพร) ปรับปรุงขุดคลองระบายน้ำสายหลัก และก่อสร้างประตูระบายน้ำหาดแตง เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ระบายน้ำในช่วงฤดูฝน และช่วยพื้นที่เกษตรได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ต่อมาในช่วงบ่าย องคมนตรี ได้เดินทางไปเปิดศูนย์ประสานงานการขับเคลื่อนและขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชุมพร เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลและศูนย์เรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหลักการทรงงาน ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่ประชาชนที่สนใจ พร้อมกันนี้ได้เยี่ยมชมนิทรรศการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จากนั้น ได้ร่วมประชุมติดตามผลการดำเนินงานโครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำคลองหัววัง - พนังตัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลนาชะอัง อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบรรยายสรุปภาพรวมโครงการฯ รวมถึงผลการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรค แนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้โครงการได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ต่อไป โครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำคลองหัววัง - พนังตัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2555 ตามที่นายคำนึง น้อยนาเวศ ราษฎรหมู่ที่ 3 ตำบลนาชะอัง อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร ขอพระราชทานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบริเวณคลองหัววัง – พนังตัก เพื่อช่วยเหลือราษฎรตำบลนาชะอัง ซึ่งประสบความเดือดร้อนขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเกษตร ทั้งนี้ สำนักงาน กปร.ได้ประสานให้กรมชลประทาน ก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบท่อส่งน้ำ ซึ่งจะสามารถส่งน้ำสนับสนุนการอุปโภคบริโภคให้ประชาชน จำนวน 450 ครัวเรือน และพื้นที่การเกษตร จำนวน 3,000 ไร่ ให้สามารถทำการเกษตรได้อย่างเพียงพอตลอดปี กองประชาสัมพันธ์ สำนักงาน กปร.