วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 13.30 น. นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดร้อยเอ็ด ครั้งที่ 8 / 2565 ที่ ห้องประชุมพระมหาเจดีย์ชัยมงคล ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมด้วย นายแพทย์ปิติ ทั้งไพศาล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดร้อยเอ็ด คณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคจังหวัดร้อยเอ็ด เข้าร่วมประชุม
โดย การในประชุมมีการนำเสนอสถานการณ์โรคโควิด-19 ซึ่งในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 จังหวัดร้อยเอ็ดมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 252 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัด 210 ราย เป็นผู้ติดเชื้อมาจากต่างจังหวัด 42 ราย หายป่วยกลับบ้าน 235 ราย และกำลังรักษาขณะนี้ 2,254 ราย ซึ่งวาระสำคัญ คือเรื่อง การเปิดการเรียนการสอนแบบ On Site ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด โดยขอให้จังหวัดพิจารณาให้เป็นไปตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการที่กำหนดและพิจารณาตามความเหมาะสมของพื้นที่ พร้อมทั้งให้การสนับสนุน การฉีดวัคซีนของเด็ก ครอบครัวของเด็ก และชุมชน ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อให้สถานศึกษามีความปลอดภัยมากที่สุด และขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พิจารณาจัดหาชุดตรวจ ATK สนับสนุน การปฏิบัติงานของฝ่ายปกครอง (กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน) และ อสม. ในพื้นที่ หากชุดตรวจ ATK ของ สสอ. , รพ.สต. ไม่เพียงพอ เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงเข้าถึง ATK ได้สะดวก โดยจัดซื้อตามมาตรฐานของสำนักงาน คณะกรรมการอาหารและยา
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด มีข้อสั่งการให้สาธารณสุขอำเภอ สร้างการรับรู้แก่สถานศึกษา ร้านค้า ร้านอาหาร และตลาด ในพื้นที่รับผิดชอบปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดอย่างเข้มข้นและเป็นรูปธรรม ในส่วนกรณีส่งตัวผู้ต้องขังเข้าเรือนจำ ให้ตำรวจภูธรจังหวัดร้อยเอ็ด ดำเนินการเฝ้าระวัง สังเกตอาการ พร้อมทั้งตรวจ ATK ก่อนย้ายตัวผู้ต้องขังพร้อมส่งผลการตรวจ ไปที่เรือนจำจังหวัดร้อยเอ็ด และให้ทางเรือนจำจังหวัดร้อยเอ็ด แยกตัว เฝ้าระวังสังเกตอาการ และตรวจ ATK ผู้ต้องขัง รายใหม่ทุกราย ส่วนเรื่องการฉีดวัคซีนให้อำเภอ สาธารณสุขอำเภอบูรณาการร่วมมือกันโดยอำนวยความสะดวก ให้กับ อสม. และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เร่งสำรวจ และดำเนินการฉีดวัคซีนให้ประชาชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ และเรื่องมาตรการปักธงสีกลุ่มเสี่ยงในชุมชน กรณีมีประวัติสัมผัสผู้ติดเชื้อโควิด - 19 (High Risk Contact) มีผลตรวจ ATK เป็นบวก (พบเชื้อ) แต่ไม่ปรากฏอาการ จัดอยู่ในกลุ่ม Home Isolation (HI) ให้ กักตัวในบริเวณที่พักอาศัย ทั้งนี้ มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่เป็นผู้ประเมินฯ และมอบหมายให้องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น จัดหาธงผ้าสีเพื่อทำสัญลักษณ์ และจัดหาอาหารในระหว่างกักตัวด้วย



