ถือว่าเป็นอัตราที่เพิ่มสูงกว่าในรอบของสายพันธุ์เดลต้า แนะนำเบื้องต้นหากบุตรหลานติดเชื้อแล้วอาการน้อยหรือไม่มีอาการ สามารถทำการรักษาตัวที่บ้านได้ ดูแลรักษาตามอาการ ถ้าหากมีไข้สามารถให้เด็กกินยาลดไข้ได้ ให้เน้นเช็ดตัวเพื่อป้องกันอาการช็อก หรือให้กินพาราเซตามอล 10 ml ต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ถ้ามีอาการไอ หรือมีน้ำมูก ให้กินยาแก้ไอและยาลดน้ำมูกได้ และถ้าหากถ่ายเหลว แนะนำให้ดื่มเกลือแร่ 23 ก.พ.2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในกลุ่มเด็ก 0-5 ปีที่ติดเชื้อโควิด-19ในช่วง 7 วันที่ผ่านมามีจำนวนสูงถึง 6 พันกว่าราย สูงสุดอยู่ที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ชลบุรี ภูเก็ต นครศรีธรรมราช และนนทบุรี ทั้งนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อดูย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 64 – 17 ก.พ. 65 พบว่ามีเด็กวัยดังกล่าวติดเชื้อสะสม107,059 ราย เสียชีวิต 29 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตจะเป็นเด็กที่มีโรคประจำตัว โดยสาเหตุหลักมาจากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อในครอบครัว และการละเลยการดูแลสุขอนามัยสำหรับเด็ก ทั้งนี้ยอดป่วยสะสมใรเด็กมีถึง 107,059 ราย โดยพบว่าเด็ก อายุ 0-1 ปี จำนวน 24,743 ราย อายุ 2 ปี จำนวน 21,237 ราย อายุ 3 ปี จำนวน 20,525 ราย อายุ 4 ปี จำนวน 20,373 ราย อายุ 5 ปี จำนวน 20,181 ราย ขณะเดียวกัน ขณะที่กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ติดเชื้อสะสม 6,829 ราย ในจำนวนนี้ แม่เสียชีวิต 110 ราย ส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 และบางรายรับวัคซีนเพียง 1 เข็มเท่านั้น ส่วนลูกเสียชีวิต 66 ราย ที่เหลือสามารถรักษาได้ทัน ซึ่งอัตราการเสียชีวิตในหญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า นพ.เอกชัย กล่าวอีกว่า สำหรับคำแนะนำหลักปฏิบัติเพื่อเป็นการลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับเด็ก คือ 1. สอนให้เด็กล้างมือที่ถูกต้อง 2. เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี ไม่แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัย เพราะเด็กอาจไม่รู้จักเอาหน้ากากออกเองเมื่อหายใจไม่ออก 3. หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปรวมตัวคนหมู่มากหรือมีโอกาสใกล้ชิดผู้ป่วย 4. ทำความสะอาดบริเวณพื้นผิว เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ของเล่นเป็นประจำ 5. หมั่นสังเกตสุขภาพเด็กอยู่เสมอ โดยเด็กที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ได้แก่ เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี และเด็กที่มีโรคประจำตัว เนื่องจากจะมีอาการหนักหากได้รับเชื้อ หากพบเด็กพร้อมกับผู้ปกครอง จะให้เข้ารับการรักษา โดยผู้รักษาจะจัดเป็นกลุ่มครอบครัวให้ ถ้าหากเด็กติดเชื้อแค่ผู้ปกครองไม่ติด ให้เด็กเข้ารักษาในโรงพยาบาลหรือ Hospitel ซึ่งอนุญาตให้ผู้ปกครองมาดูแลได้ โดยจะต้องดูแลตัวเองอย่างเข้มงวดเพื่อไม่ให้ติดเชื้อโควิดจากเด็ก แต่จะยกเว้นผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวไม่ให้ตามเข้ามาดูแล แต่ถ้าหากผู้ปกครองติดเชื้อแต่เด็กไม่ติด ให้ประสานญาติมารับเด็ก แต่หากไม่มี ทาง พม. จะมีบ้านพักฉุกเฉินสำหรับเด็กไว้รองรับ ด้าน นพ.ธีรชัย บุญยะลีพรรณ รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอนามัยเด็กแห่งชาติ กรมอนามัย กล่าวว่าคำแนะนำในการดูแลรักษาตามอาการ ถ้าหากมีไข้สามารถให้เด็กกินยาลดไข้ได้ ให้เน้นเช็ดตัวเพื่อป้องกันอาการช็อก หรือให้กินพาราเซตามอล 10 ml ต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ถ้ามีอาการไอ หรือมีน้ำมูก ให้กินยาแก้ไอและยาลดน้ำมูกได้ และถ้าหากถ่ายเหลว แนะนำให้ดื่มเกลือแร่ ทั้งนี้ หากเด็กเล็กไม่สามารถ Home Isolation (HI) ได้ สามารถเข้า Community Isolation ได้ ด้วยการติดต่อสาธารณสุขจังหวัด โดยอนุญาตให้ผู้ปกครองตามเข้ามาดูแลได้ภายใต้การดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด รวมถึงการตรวจ ATK ในเด็กต่ำกว่า 5 ปี ไม่แนะนำให้แหย่โพรงจมูกลึกเท่าผู้ใหญ่ ทั้งนี้ให้เฝ้าระวังอาการหลังติดเชื้อโควิดอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่มีอาการป่วยไม่หนัก แต่ในบางรายอาจมีอาการอักเสบหลายระบบ ซึ่งจะเกิดในสัปดาห์ที่ 2-8 หลังจากติดโควิด ทำให้เกิดไข้สูงเพิ่มขึ้นมา