สินค้า OTOP นอกจากจะเป็นสินค้าโดดเด่นประจำตำบลแล้ว ยังอัดแน่นไปด้วยคุณภาพ และชีวิตของคนในชุมชน ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ OTOP กว่า 94,000 ราย ซึ่งแต่ละปีจะมีการคัดสรรเพื่อจัดอันดับผู้ประกอบการ กระตุ้นการพัฒนาและสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย นำโดย นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ต้องการพัฒนาทักษะผู้ผลิตและผู้ประกอบการ กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา (Quadrant D) ให้มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งผลิตภัณฑ์โอทอปในกลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา ถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดมีสัดส่วนประมาณ 78.9 % หรือจำนวนประมาณ 168,000 ผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน จากทั้งสิ้น 213,162 ผลิตภัณฑ์ (ข้อมูลเดือน มกราคม 2565) ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ รูปแบบผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ที่ยังไม่สวยงามโดดเด่น ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ที่ผ่านมากรมการพัฒนาชุมชนมีการจัดอบรมเสริมความรู้แก่ผู้ประกอบการ ทั้งในด้านการผลิต การตลาด สร้างแบรนด์ รวมไปถึง Packaging และ Story Telling ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สามารถยกระดับผู้ประกอบการให้เข้าถึงตลาดผู้บริโภคมากขึ้น มีการจัดกิจกรรม “QD Academy SHOW CASE by พช.” ทดสอบตลาดออฟไลน์ คัดเลือก 39 ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่โดดเด่นมาจัดแสดงและจำหน่ายสินค้า ซึ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยจึงได้มีการต่อยอดองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการส่งเสริมการขายสินค้าผ่านช่องทางการตลาดออนไลน์ให้ผู้ประกอบการโอทอปได้มีโอกาสจำหน่ายสินค้าและเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดรับกับวิถีชีวิตแบบ New Normal สร้างรายได้กลับสู่ชุมชน ตามแนวคิดสร้างสรรค์ชุมชน สร้างคน สร้างชาติ จากใจผู้ประกอบการ...ถึงกรมการพัฒนาชุมชน คุณประชา ตันแก้ว ผู้ประกอบการร้าน Sha Craft Studio ผลิตภัณฑ์ผ้าหม้อห้อมเขียนเทียน จ.แพร่ กล่าวว่า 5 ปีแล้ว (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560) ที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมการพัฒนาชุมชน ตั้งแต่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดแพร่ ตลอดจนผู้ใหญ่ที่ให้โอกาสเราพัฒนาผลิตภัณฑ์มาโดยตลอด ซึ่งสิ่งที่ได้ตรงนี้เกินความคาดหวังเอาไว้มาก เดิมทีพวกเรามีแค่ภูมิปัญญาในการทำ แต่ยังขาดความรู้ในเรื่องการตลาด เทคนิคการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนช่วยชี้แนะ ให้ความรู้และเปิดโลกทัศน์ ในการจำหน่ายสินค้าผ่านโครงการโอทอปขึ้นเครื่อง ที่กรมการพัฒนาชุมชนร่วมลงนาม (MOU) กับ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท คิง พาวเวอร์ จำกัด ทำให้มีโอกาสได้นำสินค้าไปจำหน่าย เป็นการเพิ่มฐานลูกค้าโดยเฉพาะชาวต่างประเทศมากยิ่งขึ้น โดยจุดเด่นของ Sha Craft Studio คือการต่อยอดภูมิปัญญาผ้าเขียนเทียนของชาวล้านนาดั้งเดิมมาผสานกับการแกะสลักบล็อกไม้สักทอง สร้างลวดลายบนผืนผ้าเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น ขอขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่ให้โอกาสทำให้เรามีวันนี้ คุณชุติกาญจน์ บุญงาม ผู้ประกอบการร้านผ้าไหมนาโพธิ์พัฒนา จ.บุรีรัมย์ กว่าวว่า พช.คือชีวิต...การเข้าร่วมโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ไมใช่เพียงแค่ได้เพิ่มทักษะการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเพิ่มยอดการจำหน่ายสินค้าเท่านั้น แต่ยังได้ถึงอนาคตของลูกหลานได้การกินอยู่ที่ดีขึ้นด้วย ซึ่งที่ผ่านมากรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มีการจัดอบรมอย่างต่อเนื่องในหลากหลายด้านไม่ว่าจะเป็น การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การสร้างแบรนด์ หรือการตลาดออฟไลน์และออนไลน์ ทำให้ผลิตภัณฑ์มีการพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดด แม้ว่าจะเข้าร่วมอบรมมาหลายปีแล้ว แต่กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มีการปรับปรุงและพัฒนาเนื้อหาให้เข้ากับยุคสมัยอยู่เสมอ ช่วยการส่งเสริมด้านการตลาด ทำให้ผู้ประกอบการอย่างเราสามารถมีช่องทางการจำหน่ายได้มากขึ้นและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 2-3 เท่า คุณณัฐพงศ์ ใจมุ่ง ผู้ประกอบการร้านคัวฮอม ผ้าจกไท-ยวนราชบุรี ผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือราชบุรี กล่าวว่า เข้าร่วมโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ กับกรมการพัฒนาชุมชนมา 3 ปีแล้ว ทางกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้เข้ามาให้ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพมีการจัดอบรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ ช่วยคิดและชี้แนะแนวทางการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการตลาดในปัจจุบันมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในตลาดออฟไลน์และออนไลน์ โดยมีวิทยากรมาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนสร้างมูลค่าเพิ่มจากภูมิปัญญาที่มีอยู่ได้ ซึ่งงานเอกลักษณ์ของจังหวัดราชบุรี คือ ผ้าจก ที่สืบต่อภูมิปัญญามาจากบรรพบุรุษชาวเชียงแสนเป็นงานทำมือ 100% แต่ละผืนต้องให้ความละเอียดประณีตเป็นอย่างมาก เมื่อกรมการพัฒนาชุมชนเข้ามาส่งเสริมในส่วนนี้ทำให้รู้สึกดีมาก ๆ ที่มีผู้ใหญ่มองเห็นและเข้ามาสนับสนุนงานของเรา คุณธัญญาภัทร์ คล้อยตามวงศ์ ผู้ประกอบการร้าน Lai Thong ผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมคราม จ.นนทบุรี กล่าวว่า ความฝันสูงสุดคือการได้เข้าร่วมงามโอทอปที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี ซึ่งต้องขอขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่ให้โอกาสเข้าร่วมงานในปีที่ผ่านมา แม้ว่ายังไม่ได้รับการคัดสรรแต่ทางกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ก็ให้โอกาสในการเข้าไปจำหน่ายในงาน รู้สึกดีใจมาก ๆ สิ่งที่ได้รับจากงานเกินกว่าที่หวังไว้ โดย 1 ปีที่เข้าร่วมโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย น่ารักมาก มีกิจกรรมอบรมอย่างต่อเนื่องและที่สำคัญ คือ ความรู้ที่ได้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริง ๆ บางอย่างเราไม่เคยรู้มาก่อน เช่น เทคนิคการตัดต่อวีดีโอที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมล่าสุด ทำให้รู้สึกสนุกและอยากเรียนอีก อย่างไรก็ตาม ขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และอยากให้สนับสนุนแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ หากไม่มีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ก็ไม่มีเราในวันนี้ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในชุมชนมีโลกทัศน์ ที่กว้างขึ้น ซึ่งผ้าย้อมครามเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยภูมิปัญญาที่ใช้เป็นการทำมือ 100% ทำให้ลวดลายบนผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นมีความแตกต่างและโดดเด่น แม้จะอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เมื่อได้รับการส่งเสริมสนับสนุนทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาดทำให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและยอดจำหน่ายได้มากขึ้น