"สสว."เผยดัชนี SMESI เดือน ม.ค.65 ภาพรวมยังอยู่เหนือระดับค่าฐานต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สะท้อนความเชื่อมั่นในธุรกิจของ SME ปัจจัยบวกมาจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ความสามารถในการปรับตัวของผู้ประกอบการ เช่นเดียวกับ SMESI รายภูมิภาค ทั้งภาคตะวันออก ภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังคือต้นทุนราคาสินค้า ค่าวัตถุดิบ ค่าขนส่ง ฯลฯ ผลจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SME Sentiment Index: SMESI) ประจำเดือนมกราคม 2565 ว่าดัชนีความเชื่อมั่น SMESI อยู่เหนือระดับ 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ทั้งในส่วนค่าดัชนีปัจจุบัน และคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งอยู่ที่ระดับ 50.4 และ 52.4 ตามลำดับ สะท้อนได้ว่าผู้ประกอบการยังคงมีความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ แม้จะปรับตัวลดลงจากช่วงก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 51.8 และ 56.0 ตามลำดับ
โดยองค์ประกอบของธุรกิจที่ส่งผลมากที่สุดคือ ต้นทุน รองลงมาคือ การจ้างงาน กำไร การลงทุน คำสั่งซื้อ ปริมาณการผลิต/การค้า/การบริการ ตามลำดับ เมื่อพิจารณาเป็นภาคธุรกิจ พบว่า ธุรกิจที่มีระดับความเชื่อมั่นเกินกว่าค่าฐานที่ 50 และมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ ภาคการผลิต ภาคการค้า ซึ่งปรับตัวอยู่ที่ 52.7 และ 50.9 จากระดับ 52.3 และ 50.4 ตามลำดับ ส่วนภาคธุรกิจที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ภาคการเกษตร และภาคบริการ อยู่ที่ระดับ 51.1 และ 48.6 จากระดับ 57.2 และ 52.1 ตามลำดับ
ทั้งนี้แม้ว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ ยังคงเป็นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธ์โอมิครอน ที่ส่งผลต่อภาคบริการโดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง แต่ปัจจัยบวกที่ยังช่วยพยุงไม่ให้ผลกระทบรุนแรง คือกำลังซื้อของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น มาตรการช้อปดีมีคืน เราเที่ยวด้วยกันเฟส 3 ที่สำคัญตัวผู้ประกอบการมีการพัฒนาศักยภาพ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ปรับวิธีการขายโดยใช้ออนไลน์มากขึ้น เพิ่มช่องทางการขายที่หลากหลายให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น ทำให้ช่วยรักษาระดับยอดขายไว้ได้ แต่สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือ ต้นทุนราคาสินค้า ราคาวัตถุดิบ ค่าบรรจุภัณฑ์ รวมถึงค่าขนส่งที่มีราคาสูงขึ้น ผลจากการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องของระดับราคาน้ำมัน สิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการในระยะต่อไปให้เพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาถึงดัชนี SMESI ของผู้ประกอบการรายภูมิภาค เดือนมกราคม 2565 พบว่า เกือบทุกภูมิภาคมีระดับความเชื่อมั่นเกินกว่าค่าฐานที่ 50 โดยภูมิภาคที่ระดับความเชื่อมั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุด ได้แก่ ภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 50.3 จากระดับ 48.9 รองลงมาคือ ภาคกลาง และกรุงเทพฯ และปริมณฑล
อยู่ที่ระดับ 51.6 และ 53.2 จากระดับ 50.3 และ 52.3 ตามลำดับ ส่วนภูมิภาคที่ระดับความเชื่อมั่นลดลง ได้แก่ ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งอยู่ที่ระดับ 42.4 52.0 และ 51.1 จากระดับ 48.3 54.5 และ 53.6 ตามลำดับ
สำหรับปัจจัยบวกที่ส่งผลให้ดัชนี SMESI ในส่วนภูมิภาคโดยภาพรวมมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น พบว่า มาจากการจับจ่ายใช้สอยสินค้าในกลุ่มอุปโภคบริโภค รวมถึงกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเป็นหลัก โดยภาคตะวันออก ซึ่งมีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุด มีผลมาจากการกลับเข้ามาในพื้นที่ของกลุ่มแรงงานหลังจากวันหยุดยาว ซึ่งส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยสินค้า อาหาร เครื่องดื่ม ฯลฯ ส่วนภาคใต้ ซึ่งมีค่าดัชนีปัจจุบันอยู่ต่ำกว่าค่าฐาน และมีค่าดัชนีลดลงมากที่สุด มีผลจากภาคธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องชะลอตัว เนื่องจากการเลื่อนการอนุมัติโครงการ “Test & Go” ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติชะลอการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่
อย่างไรก็ดี จากการที่โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนไม่ส่งผลกระทบรุนแรงเหมือนระลอกก่อนหน้า ประกอบกับประชาชนได้รับวัคซีนเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง และการที่ผู้ประกอบการ SME ผู้บริโภคมีการปรับตัวในรูปแบบการซื้อ-ขายสินค้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น รวมถึงมาตรการภาครัฐที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นช้อปดีมีคืน คนละครึ่งเฟส 4 และมาตรการช่วยลดต้นทุน เสริมสภาพคล่อง ฯลฯ ที่มีออกมาในปี 2565 จะช่วยกระตุ้นให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการปรับตัวดีขึ้นต่อไป