อุบัติเหตุทางถนนนั้น ผู้เสียชีวิตประมาณ 1 ใน 3 เกิดขึ้นขณะที่ใช้รถใช้ถนนเพื่อทำงาน และหากนับรวมอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นในระหว่างการเดินทางไปทำงานและกลับบ้านด้วย ตัวเลขจะเพิ่มขึ้น จากข้อมูลwww.thairsc.com หรือศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน พบว่าในปี 2564 ที่ผ่านมา ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมีมากกว่า 13,000 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 36 ราย โดยเป็นกลุ่มคนวัยทำงานอายุตั้งแต่ 25-60 ปี เสียชีวิตมากถึงร้อยละ 54 หรือประมาณกว่า 7,000 ราย สาเหตุของความสูญเสียของกลุ่มวัยทำงานมาจากปัจจัยเกี่ยวกับ“พฤติกรรมของคน”และ“สภาพของรถ”เป็นสำคัญ จากข้อมูลพบว่ากลุ่มคนทำงานเสียชีวิตจากรถ “จักรยานยนต์” มากที่สุด จำนวนมากว่า 5,800 ราย และมีสถานะเป็น“ผู้ขับขี่”จำนวนมากกว่า 5,000 ราย ดังนั้นการเดินทางไปกลับระหว่างบ้านกับที่ทำงานในทุกๆ วัน นอกเหนือจากกฎจราจรที่ผู้ใช้รถใช้ถนนต้องยึดถือปฏิบัติแล้วเพื่อความปลอดภัยแล้ว หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ก็สามารถร่วมกันเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน ป้องกันการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของพนักงานได้ด้วยการมีมาตรการองค์กร คือ“กฎบัตรหรือข้อบังคับขององค์กรหรือหน่วยงาน” ที่กำหนดขึ้นโดยผู้บริหารให้เป็นนโยบายองค์กร โดย“กฎบัตรหรือข้อบังคับ” เปรียบเสมือน “กฎหมาย” ขององค์กร ในเรื่องความปลอดภัยทางถนน ที่กำหนดขึ้นเพื่อให้พนักงานในองค์กรต้องยึดถือปฏิบัติ ซึ่งจะมีการกำหนดบทลงโทษ หากมีการฝ่าฝืน หรือการให้รางวัล หากพนักงานปฏิบัติตนตามข้อบังคับ ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของพนักงานในองค์กร ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาองค์กรและประเทศ จะทำให้พนักงานในองค์กร มีวินัย มีความปลอดภัยจากการใช้รถใช้ถนนมากขึ้น “อุบัติเหตุทางถนน” ถ้าทุกคน ทุกหน่วยงาน ทุกองค์กรช่วยกันก็จะสามารถหยุดการเกิดอุบัติเหตุได้ เริ่มที่ตัวเรา ปฏิบัติตามกฎจราจร ไม่ขับรถเร็ว เพื่อลดความเสี่ยง และสำหรับผู้ใช้จักรยานยนต์ อย่าลืมสวมหมวกกันน็อก ทั้งผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้าย เพราะจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูง ผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้ายต้องมีอุปกรณ์นิรภัย คือ หมวกกันน็อก ไว้ป้องกัน หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นก็ช่วยลดความรุนแรงลงได้ หากเกิดอุบัติเหตุขึ้น และรถที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุนั้นมีประกันภัย พ.ร.บ. ผู้ประสบภัยจากรถทุกคนก็จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ผู้เสียชีวิตจะได้รับความคุ้มครอง 500,000 บาท ผู้บาดเจ็บจะได้ความคุ้มครองเป็นค่ารักษาพยาบาลตามความเสียหายที่แท้จริงสูงสุดไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน ผู้ประสบภัยจากรถสามารถติดต่อใช้สิทธิได้ที่บริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยรถของตนเองหรือที่บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด มีสาขาให้บริการทุกจังหวัดทั่วประเทศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่บริษัทกลางฯ Call Center 1791 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่ www.rvp.co.th