กลุ่มเกษตรกร เป็นองค์กรเกษตรกรที่มีความสำคัญ ที่รัฐต้องให้การสนับสนุนเกษตรกร โดยการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสถาบันเกษตรกรในรูปนิติบุคคล จดทะเบียนในลักษณะกลุ่ม ดำเนินธุรกิจด้านต่างๆ เช่น ให้เงินกู้ยืม จัดหาปัจจัยการผลิต รวบรวมผลผลิต แปรรูปผลผลิต เป็นต้น ลักษณะของ
กลุ่มเกษตรกร เป็นองค์กรขนาดเล็ก รวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่มุ่งเน้นการแสวงหากำไรจากสมาชิก และไม่มีความสามารถที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากภายนอกได้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ในฐานะหน่วยงานส่งเสริมและพัฒนากลุ่มเกษตรกร ได้จัดทำแนวทางการสร้างเงินทุนภายในกลุ่มเกษตรกร โดยจัดทำโครงการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกรเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการผลิตและการตลาด เพื่อเสริมสร้างสภาพคล่องด้านเงินทุนให้กับกลุ่มเกษตรกร
ปีงบประมาณ พ.ศ.2564 จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับจัดสรรเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร โครงการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกรเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการผลิตและการตลาด จำนวนเงินทั้งสิ้น 23,750,000 บาท วัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนเงินกู้ยืมให้กับกลุ่มเกษตรกรใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจแต่ละปี ส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรในการจัดหาปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพมาให้บริการสมาชิก รวมทั้งส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรสร้างรายได้เพิ่ม จากการรวบรวมผลผลิตเพื่อจำหน่าย หรือแปรรูปผลผลิต และเพื่อสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับกลุ่มเกษตรกรเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่ผ่านมาตรฐานของกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยพิจารณาตามศักยภาพและสถานะการเงินของแต่ละกลุ่มและสภาพของกิจกรรมการผลิตและการตลาดที่นำเสนอตามแผนงาน/โครงการ ซึ่งมีกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับเงินกู้ตามโครงการดังกล่าว จำนวน 27 กลุ่ม รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 23,750,000 บาท
โดยแยกตามวัตถุประสงค์การขอกู้เงินได้ ดังนี้
1.เพื่อรวบรวมผลผลิต จำนวน 5 กลุ่ม เป็นเงิน 3,000,000 บาท
2.เพื่อส่งเสริมการผลิต จำนวน 14 กลุ่ม เป็นเงิน 10,180,000 บาท
3.เพื่อจัดหาสินค้ามาจำหน่าย จำนวน 10 กลุ่ม เป็นเงิน 9,270,000 บาท
4.เพื่อแปรรูปผลผลิต จำนวน 2 กลุ่ม เป็นเงิน 1,300,000 บาท
ทำให้กลุ่มเกษตรกรในจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ได้รับเงินกู้สามารถจัดหาปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ และราคายุติธรรม ตรงตามความประสงค์ของเกษตรกรเอง เป็นการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร รวมทั้งสร้างรายได้เพิ่มจากการรวบรวมผลผลิตเพื่อจำหน่าย หรือแปรรูปผลผลิตร่วมกัน และสามารถสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับเกษตรกรเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาและสร้างความยั่งยืนในการเพิ่มทุนภายใน ส่งผลให้การบริหารจัดการกลุ่มเกษตรกรมีศักยภาพและมีความเข้มแข็ง ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19)
จากการที่กลุ่มเกษตรกรในจังหวัดนครศรีธรรมราชได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนจากโครงการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเกษตรกรเพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการผลิตและการตลาด ทำให้ปริมาณธุรกิจในภาพรวมของกลุ่มเกษตรกร มีปริมาณธุรกิจจำนวน 398,507,927.42 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 เป็นเงิน 134,122,599.58 บาท ปริมาณธุรกิจเพิ่มขึ้นจากปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 50.73