หมูภูสิงห์ ธนาคารหมูหลุม ทางออกทางเลือก แก้วิกฤติหมูขาดตลาดและราคาแพง วิกฤติราคาหมูมีชีวิตราคาตกต่ำในช่วงปี พ.ศ. 2562 ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูขาดทุน ด้วยเพราะอาหารหมูมีราคาแพง เนื่องจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพดมีราคาแพงและนำเข้าลำบากเนื่องจากสถานการณ์โควิด ส่วนมันสำปะหลังเกิดการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง ทำให้เกษตรกรลดการผลิต ขณะที่โรคอหิวาต์แอฟริกันในหมู (African Swine Fever : ASF) เกิดระบาดทำให้หมูตายเป็นจำนวนมาก แม่หมูลดน้อยลงกว่าครึ่งทำให้ลูกหมูออกสู่ตลาดน้อยลง ทั้งที่ในอดีตประเทศไทยสามารถเลี้ยงหมูได้เพียงพอกับความต้องการบริโภคภายในประเทศและส่งออกได้ จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ผลผลิตหมูหายไปจากระบบกว่า 60 % หรือกว่า 1.2 ล้านตัว ในเดือนมกราคม 2565 ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มเฉลี่ย 105 บาท/กก. ทำให้เนื้อสดหมูยืนที่ราคา 200 บาท/กก. กระทบต่อผู้ประกอบการร้านอาหารและผู้บริโภคในวงกว้าง นับเป็นความผันผวนของสถานการณ์และปัจจัยเสี่ยงที่ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยไม่สามารถควบคุมได้ อย่างไรก็ตามเมื่อเจอทางตันก็ย่อมมีทางออก นายสมชาย เชื้อจีน ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ทางศูนย์ฯ ได้ทดลองผสมพันธุ์หมูได้ลูกผสมหมูภูสิงห์ที่เกิดจากลูกผสม 3 สายพันธุ์ ระหว่างหมูเหมยซาน ซึ่งเป็นแม่พันธุ์และผสมน้ำเชื้อจากพ่อพันธุ์ที่เกิดจากสายพันธุ์ดูร็อกและหมูป่าผสมกัน โดยนำจุดเด่นของแต่ละสายพันธุ์มารวมกัน คือหมูเหมยซาน เลี้ยงง่ายโตไวให้ลูกดกและถี่โดยออกลูกปีละ 2 - 3 ครั้ง ๆ ละ 15 – 20 ตัว เลี้ยงลูกเก่งกินอาหารที่คุณภาพต่ำได้ ทนต่อสภาพอากาศหนาวชื้นของที่สูงได้ดีเป็นหนุ่มสาวเร็ว เมื่ออายุประมาณ 4 - 6 เดือน จะมีเนื้อเพิ่ม ส่วนหมูป่าเลี้ยงง่าย แข็งแรง เริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุราว 8 - 10 เดือน ตั้งท้องนาน 101 - 130 วัน ออกลูกครั้งละ 3 - 12 ตัว ลูกหย่านมเมื่ออายุ 3 - 4 เดือน และหมูพันธุ์ดูร็อก (Duroc) หมูพื้นเมืองของอเมริกามีกล้ามเนื้อแข็งแรงเลี้ยงง่ายโตไวอัตราการแลกเนื้อสูง “ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ฯ ได้ดำเนินกิจกรรมธนาคารหมูหลุมตั้งแต่ปี 2563 โดยการผลิตหมูลูกผสม 3 สายพันธุ์ (เหมยซาน ดูรอกเจอร์ซี่ และหมูป่า) ปีละประมาณ 30 คู่ และส่งมอบให้เกษตรกรนำไปขยายผลในพื้นที่ของตนเอง ครอบครัวละ 1 คู่ โดยเกษตรกรจะคืนต้นทุนให้กับทางศูนย์ฯ เพื่อนำไปให้เกษตรกรรายอื่นๆ ต่อไปในระบบธนาคารหมูหลุม ซึ่งเกษตรกรต้องเลี้ยงในระบบหลุมเพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากมูลหมูภายใต้การกำกับและคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ อย่างเคร่งครัด ซึ่งใน 1 หลุมสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้ประมาณ 750 กิโลกรัมต่อรุ่น” นายสมชาย เชื้อจีน กล่าว ทางด้าน นางพนาไพร หอมทรง เกษตรผู้เลี้ยงหมูหลุม เปิดเผยว่าอาชีพหลักคือทำสวน และปลูกพริก แตงกวา ถั่วฝักยาว และปลูกผักสวนครัว ทั่วไป ผลผลิตที่ได้นำไปขายที่ตลาดทุกวัน หากวันไหนเหลือจะเอามาเลี้ยงหมู และเอามูลไปทำปุ๋ยหมักใส่ผักที่ปลูก หมูหลุมเลี้ยงง่ายไม่สิ้นเปลืองลงทุนน้อย “ครั้งแรกทางศูนย์ฯ ภูสิงห์อบรมการเลี้ยงให้พร้อมมอบลูกหมูให้ 1 คู่ ตอนนี้ออกลูก 7 ตัว โดยจะขายลูกหมูหลังออกลูกเลยเมื่อมีพ่อค้ามารับซื้อ โดยจะขายคู่ละ 1,700 บาท แต่ถ้าเลี้ยงต่อ 1 – 2 เดือน จะขายได้ราคาตัวละ 1,200 -1,300 บาทต่อตัว โดยพ่อค้ามารับซื้อไปทำหมูหัน นับเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้เป็นอย่างดีเพราะเฉลี่ยแล้ว 4 เดือนก็ขายได้เงิน” นางพนาไพร หอมทรง กล่าว พร้อมเปิดเผยเพิ่มเติมด้วยว่า ราษฎรในพื้นที่ได้รวมตัวกันจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนปลูกผักปลอดภัย มาตั้งแต่ปี 2560 ปัจจุบันมีสมาชิก 25 คน โดยสมาชิกในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนดังกล่าวได้สมัครใจกันเลี้ยงหมูหลุม ตามคำแนะนำของศูนย์ฯ ภูสิงห์ เพราะจะได้นำมูลหมูหลุมมาใส่พืชผักช่วยลดต้นทุนการซื้อปุ๋ยอินทรีย์ โดยจะตักมูลหมูทุก 3 เดือน ได้มูลหมูประมาณ 10 กระสอบ ส่วนหนึ่งจำหน่ายเป็นปุ๋ยคอกกระสอบละ 35 บาท มีเกษตรกรมาซื้ออย่างต่อเนื่อง “รู้สึกภูมิใจที่พระพันปีหลวงได้มอบโครงการภูสิงห์นี้ให้ประชาชนมีกินมีใช้อยู่อย่างพอเพียง มีรายได้เสริม บางรายก็ได้เงินเป็นค่าเทอมลูก ทำให้ชีวิตไม่ขัดสน เมื่อก่อนเราไม่เคยมีความรู้ เมื่อเข้าไปที่โครงการฯ ทำให้ได้รับความรู้มากมาย และดีใจที่รัชกาลที่ 10 พระองค์ได้ดำเนินรอยตามรัชกาลที่ 9 รู้สึกภูมิใจ ดีใจที่พระองค์ท่านดูแลประชาชนอย่างพวกเรา” นางพนาไพร หอมทรง กล่าว ทั้งนี้ต้นทุนในการเลี้ยงหมูหลุมขนาด 2 หลุมต่อครอบครัวจะอยู่ที่ 14,000 บาท/ปี ผลผลิตเฉลี่ย 24 ตัว/รุ่น ปีละ 2 รุ่น จะได้ลูกหมูประมาณ 48 ตัว/ปี มูลค่าประมาณ 48,000 บาท/ปี ได้ปุ๋ยอินทรีย์ประมาณ 4 ตัน/รุ่น รวม 8 ตัน มูลค่าประมาณ 24,000 บาท รวมกำไรทั้งปีประมาณ 58,000 บาท/ปี นับเป็นรายได้เสริมของเกษตรกรและช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยเคมี ขณะที่ปริมาณหมูเข้าสู่วงจรการตลาดเพิ่มขึ้น ยังผลให้ผู้บริโภคมีเนื้อหมูบริโภคในราคาต่ำตามมาด้วย นับเป็นการการสืบสาน ต่อยอด ขยายผล ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้น้อมนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน เพื่อความผาสุกของพสกนิกรใต้ร่มพระบารมีของพระองค์ สำหรับศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2537 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรบริเวณอำเภอภูสิงห์ และได้มีพระราชเสาวนีย์ให้ส่วนราชการต่างๆ ร่วมกันพิจารณาจัดตั้งศูนย์พัฒนาการเกษตรแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ ซึ่งประกอบอาชีพทำนาไม่ได้ผล และให้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อดำเนินงานในลักษณะเช่นเดียวกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้น้อมนำพระราชเสาวนีย์มาดำเนินการโดยมีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(สำนักงาน กปร. ) ทำหน้าที่ประสานงาน ให้การสนับสนุนงบประมาณ และติดตามการดำเนินงานของโครงการฯ จวบจนปัจจุบัน