สวธ.แจ้งการบำเพ็ญกุศล เศรษฐา ศิระฉายา ตำนานนักร้องดังวงดิอิมพอสซิเบิ้ลส์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) พุทธศักราช 2554 นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กล่าวว่า วงการเพลงไทยสากลใจสลายเมื่อได้รับแจ้งข่าวว่า นายเศรษฐา ศิระฉายา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล - ขับร้อง) พุทธศักราช 2554 ถึงแก่กรรมเมื่อเช้ามืดวันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 04.41 น. ณ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ด้วยโรคมะเร็งปอด สิริรวมอายุ 77 ปี โดยทายาทได้ขอพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ในวันจันทร์ที่ 21 ก.พ. 65 เวลา 17.30 น. ณ ศาลา 1 วัดเทพศิรินทราวาส แขวงวัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร และกำหนดสวดพระอภิธรรมศพ ระหว่างวันที่ 21 - 27 ก.พ. 65 เวลา 19.00 น ณ ศาลา 1 วัดเทพศิรินทราวาส ซึ่งทายาทจะเก็บศพไว้บำเพ็ญกุศล 100 วัน และสวธ.จะดำเนินการขอพระราชทานเพลิงศพต่อไป อธิบดีสวธ. กล่าวอีกอีกว่า สวธ.ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ เผยแพร่และถ่ายทอดผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนแล้ว ในยามที่ศิลปินฯ เสียชีวิตยังให้การช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ตามระเบียบสวัสดิการของศิลปินแห่งชาติ ทั้งในการมอบเงินช่วยเหลือเพื่อร่วมการบำเพ็ญกุศลศพ เงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเพื่อเผยแพร่ผลงาน และขอพระราชทานเพลิงศพ ประวัติสังเขป เศรษฐา ศิระฉายา เกิดวันที่ 6 พฤศจิกายน 2487 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นคนที่ขยันเรียนรู้ดนตรีด้วยตนเอง โดยอยู่กับวงดนตรีหลายคณะมาตั้งแต่วัยเด็ก ด้วยความมีมานะและมีพรสวรรค์ในด้านดนตรี จึงสามารถเล่นดนตรีได้เป็นอย่างดี หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จึงเริ่มอาชีพรับจ้างเล่นดนตรีตามต่างจังหวัดและสถานเริงรมย์ที่มีทหารอเมริกันเป็นลูกค้าสมัยสงครามเวียดนาม เรื่อยมาจนชำนาญขึ้นเป็นลำดับ ได้ร่วมกับเพื่อนตั้งวงดนตรีหลุยส์กีต้าร์เกิร์ล แล้วตั้งวงดนตรีดิอิมพอสซิเบิ้ลส์ เล่นดนตรีแนวเพลงไทยร้องประสานเสียงเป็นวงแรก และมีคนฟังมากที่สุด ทำหน้าที่หัวหน้าวงและนักร้องนำ นำวงดนตรีเข้าร่วมแข่งขันสงตรีสตริงคอมโบ จนได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานชนะเลิศถึง 3 ปีซ้อน และร่วมงานกับครูเพลงหลายท่าน ผลิตงานบันทึกแผ่นเสียงหลายชุด มีเพลงยอดเยี่ยม เช่น เป็นไปไม่ได้ หมื่นไมล์แค่ใจเอื้อม ไปตามดวง ประสบความสำเร็จเมื่อร่วมแสดงภาพยนตร์เรื่องโทน และอีกหลายเรื่องต่อมา นอกจากนี้ ยังมีความสามารถด้านการแสดง การกำกับภาพยนตร์ ละครเวที ละครโทรทัศน์ เป็นพิธีกรระดับชาติที่ได้รับความนิยม ผลิตรายการโทรทัศน์ประสบความสำเร็จสูงสุดและได้รางวัลมากมายในทุกสาขา เช่น ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองพระราชทาน เป็นต้น ซึ่งผลงานทั้งหลายมีคุณูปการยิ่งต่อสังคมไทย ได้สร้างสรรค์คุณค่าและมีความโดดเด่นแสดงถึงความเป็นศิลปินที่มีความเป็นเลิศทางศิลปะด้านดนตรีและการแสดง ทั้งอุทิศตนในการอนุรักษ์ สืบสาน สร้างสรรค์ ส่งเสริมและเผยแพร่ภูมิปัญญาไทย จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล - ขับร้อง) พุทธศักราช 2554 เครดิตภาพ สวธ.