ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล
ชีวิตคู่เป็นเพียงข้อแนะนำของธรรมชาติ บางทีก็ต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามความเชื่อของเราเอง
ทิดสอนเป็นคนที่ไม่ค่อยแข็งแรงมาตั้งแต่เด็ก และเมื่อได้มาบวชอยู่นับสิบปีก่อนที่จะสึกออกมาแต่งงานนั้น ก็มีชีวิตที่ไม่ได้สมบุกสมบันเท่าใด แต่เมื่อออกมาใช้ชีวิตฆราวาส งานต่าง ๆ รอบตัวเขาก็ดูเหมือนจะเป็นภาระอันหนักอึ้ง แต่เขาก็พยายามทำงานต่าง ๆ ด้วยความทุ่มเทและอดทน
ครอบครัวของน้องดาวภรรยาของทิดสอนนับว่ามีฐานะพอสมควร ด้วยความที่มีพ่อเป็นครูใหญ่ ทำให้คนในครอบครัวก็เป็นคนที่มีหน้ามีตา เป็นที่รู้จักของชาวบ้านร้านตลาด เวลาที่น้องดาวเดินไปไหนมาไหนก็จะมีผู้คนทักทายไปตลอดทาง ตามประสาสังคมต่างจังหวัดที่ชอบแสดงความคุ้นเคยกันและกัน ในขณะที่ทิดสอนแม้ว่าในสมัยที่เป็นพระเป็นเณรก็เป็นที่รู้จักของญาติโยมพอสมควร แต่เขาก็ไม่ชอบที่จะถูกทักทายหรือมีคนมาห้อมล้อมพูดคุยแบบน้องดาว ทำให้เขารู้สึกอึดอัดและไม่ค่อยอยากจะออกจากบ้านไปไหนมาไหน แต่น้องดาวกลับชอบที่จะโชว์สามีต่อผู้คน พร้อมกับโชว์เสื้อผ้าเครื่องประดับของตัวเองด้วยความอิ่มเอมใจ เมื่อมองเห็นเห็นสายตาของผู้คนที่จ้องเป็นประกายด้วยความอิจฉา ทั้งอิจฉาในการแต่งตัวของน้องดาวเอง กับที่อิจฉาในตัวสามีอดีตพระเสียงดีที่เดินตามอยู่ต้อย ๆ
น้องดาวดูเหมือนจะเรียกร้องให้ทิดสอนทำโน่นทำนี่ตามใจอยู่ไม่หยุด ทิดสอนก็พยายามหาทางออกด้วยการขอไปทำไร่ทำสวน เพราะพ่อตาก็มีที่ทางอยู่มาก ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะอยู่ให้ห่างกับน้องดาวให้มาก ความอึดอัดใจทำให้ทิดสอนไม่มีความสุข เกือบทุกวันที่ทิดสอนกลับจากไร่มาบ้าน ก็จะได้ยินเสียงตะโกนโวยวายเสียงดังของน้องดาว ที่ชวนทะเลาะด้วยเรื่องต่าง ๆ อยู่เสมอ ชีวิตคู่ของทั้งสองคนจึงเป็นที่คาดการณ์จากเสียงซุบซิบของชาวบ้านว่า น่าจะไปไม่รอดลคงจะต้องแยกทางกันในเร็ววัน
ชีวิตคู่แบบร้าวฉานนั้นดำเนินไปเกือบ 3 ปี ทั้งสองคนก็แยกทางกัน นานมากกว่าที่ชาวบ้านนินทาไว้ หลายคนสงสารทิดสอน ต่างก็โล่งใจเมื่อทิดสอนพ้นสภาพ “สามีในกรงทอง” นั้นไปได้ เพราะแม้ว่าน้องดาวจะพยายามแต่งปั้นให้ทิดสอนเป็นหนุ่มสังคม แต่ทิดสอนก็ไม่ยอมรับและพยายามหลีกหนี ในที่สุดน้องดาวก็เป็นฝ่ายที่ขอหย่า ทิดสอนก็กลับมาบ้านที่มัญจาคีรี ซึ่งก็ได้รับการต้อนรับด้วยดี ทั้งจากพ่อแม่และชาวบ้านที่รู้จักกับทิดสอนมาตั้งแต่เด็ก ๆ ที่ได้ชื่นชมทิดสอนจากข่าวคราวความมีชื่อเสียงแต่ครั้งที่อยู่ในเพศสมณะนั้นแล้ว ทำให้ทิดสอนรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าและมีความสุขกว่าแต่เดิม จากที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับ “รักจำยอม” ที่ผ่านมาเกือบ 3 ปีนั้นมาก
แน่นอนว่าทิดสอนต้องอยู่ในสายตาของสาว ๆ ในหมู่บ้านหลายคน แต่มีคนหนึ่งที่ทิดสอนให้ความสนใจเป็นพิเศษ เธอชื่อ “ยุวดี” หรือ “น้องดี” ที่มีอายุห่างจากทิดสอน 5 ปี ในขณะที่ทิดสอนก็อยู่ในวัยเบญจเพส นับว่าพอเหมาะพอสมกันดี แม้ว่าน้องดีจะไม่ได้มีความโดดเด่นอะไร ทั้งฐานะที่บ้านและหน้าตา ทั้งสองผูกมือแต่งงานกันอย่างง่าย ๆ ไม่มีการจัดเลี้ยงใหญ่โตอะไร ส่วนเรือนหอก็ขอแรงผู้คนในหมู่บ้านมาช่วยกันในบริเวณใกล้ ๆ เรือนพ่อแม่ของน้องดี แล้วเลี้ยงข้าวเลี้ยงปลากันแบบที่ว่า “ลงแขก” ทั้งสองคนเมื่อแต่งงานแล้วก็ไม่ได้ออกไปงานอะไรที่ไหนมากนัก ทุกวันออกไปทำนา ค่ำมาก็มาจุดตะเกียง(สมัยนั้นราว พ.ศ. 2480 กว่าครึ่งในภาคอีสานยังไม่มีไฟฟ้าใช้) แล้วก็เข้านอนโดยเร็ว
ชีวิตคู่ครั้งใหม่ของทิดสอนดำเนินไปเป็นปกติด้วยดี มีแต่ข้อสงสัยของชาวบ้านว่า เมื่อรักกันดีขนาดนี้ทำไมจึงยังไม่มีลูกเต้าเสียที เมื่อผู้คนสงสัยกันมาก ๆ พ่อแม่ของน้องดีก็ต้องเป็นฝ่ายออกมาตอบข้อสงสัยนั้นเองว่า “ทิดสอนน่าจะเป็นหมัน” แต่ก็ไม่มีใครกล้าถามทิดสอนว่าเป็นหมันจริงหรือไม่ แต่ก็มีบางคนกล้าที่จะถาม แต่ก็ได้รับคำตอบที่เป็นรอยยิ้มหรือเสียงหัวเราะและชวนคุยเรื่องอื่นเสมอ และเรื่องนี้หากใครไปถามน้องดี ก็จะได้รับแต่ความเงียบและทำสีหน้าเรียบ ๆ ตอบรับ
ทิดสอนดูเหมือนจะชอบชีวิตในวัด เมื่ออยู่ในหมู่บ้านพอมีเวลาว่างก็มักจะไปขลุกอยู่ที่วัด โดยไปช่วยซ่อมโน่นซ่อมนี่ตามแต่หลวงพ่อจะใช้ แต่ที่ทิดสอนชอบมากในระหว่างที่อยู่วัดนั้นก็คือได้สนทนาธรรมกับหลวงพ่อ บางทีก็มีพระอาคันตุกะมาขอจำวัด ทิดสอนจำได้ว่ามีบางรูปที่เป็นพระ “อรหันต์” หรือพระที่มีชื่อเสียงในทางวิปัสสนา ทิดสอนก็ไปกราบไหว้ เมื่อทิดสอนพยามจะสนทนาธรรมด้วย ท่านเหล่านั้นก็ไม่ค่อยจะพูดด้วย คงเป็นเพราะต้องการมาปลีกวิเวกจริง ๆ แต่ทิดสอนก็ภูมิใจที่ได้มีโอกาสพบกับพระระดับเกจิเหล่านั้น และแอบศึกษาพูดคุยกับคนที่มีรสนิยมเดียวกัน จนได้รู้จักท่านเหล่านั้น “จากคำบอกเล่า” ด้วยดีพอสมควร ที่ทิดสอนมักนำมาอ้างอิงเวลาที่พูดคุยกับคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน ทำให้ทิดสอนนั้นกลายเป็นที่สนใจของบรรดาคนเฒ่าคนแก่ทั้งหลาย รวมถึงชาวบ้านคนอื่น ๆ ที่มาพบและพูดคุยกับทิดสอน ซึ่งทิดสอนก็มักจะมี “ธรรมะ” ดี ๆ แนะนำให้กับคนเหล่านั้นเสมอ
ธรรมะที่ทิดสอนพูดคุยกับผู้คนมีหลายระดับ เหมือนกับว่าทิดสอนได้แยกแยะผู้คนออกเป็นกลุ่ม ๆ อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านจัดแบ่งบุคคลกลุ่มต่าง ๆ เป็น 4 พวก ที่เรียกว่า “บัว 4 เหล่า” ที่พระพุทธเจ้าแบ่งตามระดับสติปัญญาหรือความสามารถในการเข้าใจและรับรู้ แต่กลุ่มของทิดสอนจะเป็นการแบ่งตามระดับอายุ คือคนเฒ่าคนแก่ก็จะพูดคุยในแบบหนึ่ง ที่จะเน้นคำคม ๆ ขลัง ๆ ไม่ต้องยกตัวอย่างอะไรมาก เพราะคนเฒ่าคนแก่นั้นมีประสบการณ์มามากพอสมควรแล้ว พอมาคุยคนในวัยกลางคนก็จะต้องพยายามหาเรื่องอ้างอิงที่หนักแน่น เพราะคนในวัยนี้ค่อนข้างจะมีทิฐิ มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง ส่วนในคนหนุ่มสาวก็จะต้องมีการเปรียบเทียบ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัด ๆ เพราะคนในวัยนี้ไม่ค่อยเชื่อใครง่าย ๆ และสุดท้ายในกลุ่มเด็ก ก็ต้องมีนิทานสาธกยกตัวอย่าง เพราะเด็ก ๆ ชอบนิทานนั่นเอง
ผู้เฒ่าคนหนึ่งที่เคยเป็นเด็กในสมัยที่ทิดสอนกำลังเริ่มต้นความเป็น “ยาครู” (ภาษาอีสานโบราณหมายถึงคนที่มีความรู้มากจนสามารถสอนคนที่เป็นครูได้) บอกว่าทิดสอนที่เด็ก ๆ เรียกว่า “ครูพ่อทิดสอน” มักจะมีผลไม้มาให้เด็กกิน ซึ่งก็คือเด็ก ๆ ที่ตามพ่อแม่หรือย่ายายที่มาทำบุญที่วัด ผลไม้เหล่านั้นทิดสอนเก็บหาได้ในป่าในไร่นา ไม่มีปลูกในบ้าน ทำให้เด็ก ๆ สนใจ อยากกิน อยากรู้ เช่น บักขบ(ตะขบ) บักเล็บแมว บักทัน(พุทรา) ฯลฯ เมื่อเด็กมากินแกก็จะสอนให้เด็ก ๆ มีความขยัน ให้ทำโน่นทำนี่ เช่น ปั้นดินเหนียว หรือสานใบมะพร้าว เป็นต้น พร้อมกับสอดแทรกธรรมะ เล่าชาดกต่าง ๆ ให้เด็กฟัง
ทิดสอนมีความสุขกับชีวิตแบบที่เป็นครูนี้มาก แต่ก็เหมือนจะมีอุปสรรคอยู่มากพอสมควร ทั้งจากคนใกล้ตัวและคนรอบข้าง