พบความหลากหลายทางธรณีวิทยา พบหุบเหวที่ลึกกว่าแกรนแคนย่อนเป็น 10 เท่า นักวิทย์ตั้งสมมติฐานอาจเคยถูกชนมาก่อนจนแตกเป็นเสี่ยงแล้วมารวมตัวกันใหม่ หรือเกิดการขยายตัวพองออกเอง
เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ "นี่คือ #ดวงจันทร์มิแรนดา ดวงจันทร์ของดาวยูเรนัสที่มีรูปลักษณ์สุดแปลกตา
ดวงจันทร์มิแรนดา (Miranda) บริวารของดาวยูเรนัส (Uranus) เป็นดวงจันทร์ที่มีขนาดเล็กมากดวงหนึ่ง ประกอบขึ้นจากหินและน้ำแข็ง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 470 กิโลเมตร แต่มีมวลและแรงโน้มถ่วงมากพอที่จะปรับรูปร่างของตนให้อยู่ในสภาวะสมดุลอุทกสถิต (Hydrostatic equilibrium) หรือการมีรูปร่างใกล้เคียงกับทรงกลมได้
จากภาพเราจะเห็นว่าดวงจันทร์มิแรนดามีความหลากหลายทางธรณีวิทยาที่แตกต่างกันอย่างมาก มีบริเวณหุบเหวโค้งที่ลึกราวๆ 20 กิโลเมตร (ลึกกว่าแกรนแคนยอนบนโลกกว่า 10 เท่า) ซึ่งมีชื่อว่า “แนวหน้าผาเวโรนา” (Verona Rupes) และยังพบลักษณะการแปรสัณฐานทางธรณีวิทยาเป็นชั้นๆ จนทำให้ดวงจันทร์ดวงนี้ดูขี้ริ้วขี้เหร่และแปลกตามากในบรรดาดวงจันทร์ทั้งหมดในระบบสุริยะก็เป็นได้
สาเหตุของความหลากหลายบนพื้นผิวดวงจันทร์มิแรนดานั้น นักวิทยาศาสตร์มีสมมติฐานว่าดวงจันทร์มิแรนดาน่าจะเคยถูกชนด้วยวัตถุขนาดใหญ่จนแตกเป็นเสี่ยง ๆ จากนั้นเศษที่กระจัดกระจายไปในอวกาศก็กลับมารวมตัวกันอีกครั้งด้วยแรงโน้มถ่วง หรืออาจเกิดจากปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาภายในของดวงจันทร์ดวงนี้ ทำให้เกิดการขยายตัวหรือพองตัวออกของดวงจันทร์ จนเกิดเป็นลักษณะภูมิประเทศอย่างที่เราเห็นได้ในภาพ
เรียบเรียง : บุญญฤทธิ์ ชุนหกิจ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.
อ้างอิง : https://www.facebook.com/.../a.1232764.../10159710744735535/"