วันที่ 16 ก.พ.65 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ (NIDA) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Arnond Sakworawich ระบุว่า... Dead lock, เกือบ dead lock, สุญญากาศทางการเมือง และทางออกของบ้านเมือง สถานการณ์ที่ 1. สภาล่มซ้ำซาก -->นายกรัฐมนตรีตัดสินใจยุบสภา--> พรป เลือกตั้งยังไม่เสร็จ แต่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎรแล้ว --> กกต จัดการเลือกตั้งไม่ได้ --> รัฐบาลรักษาการไปยาวๆ รอการ set zero กรณีนี้เกิดสภาล่มซ้ำซากแล้ว เกิดจากความแตกแยกในพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านก็ร่วมละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยการไม่เข้าประชุมแต่เสนอให้นับองค์ประชุมสภา อันทำให้สภาล่มและกฎหมายต่างๆ ไม่อาจจะผ่านการพิจารณาได้ ทำให้เกิดความล่าช้าในกระบวนการนิติบัญญัติ สร้างความเสียหายให้กับประเทศเป็นอย่างมาก ถ้าให้ผมอ่านใจนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็คงพยายามยื้อให้ได้มากที่สุด ตั้งเป้าและใฝ่ฝันว่าจะยื้อไปได้ยาวจนได้เป็นประธานการจัดประชุม APEC ให้สำเร็จจนได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ปัจจัยแทรกซ้อนคือได้มีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่กฎหมายพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยังไม่แล้วเสร็จและยังต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควร กว่าจะผ่านสภาไปเสนอทูลเกล้าให้ลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ถ้าเกิดอุบัติเหตุทำให้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรก่อนที่จะผ่าน พรป. เลือกตั้ง สส. ก็จะเกิด dead lock เพราะไม่มีสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่ต้องมีกฎหมายเลือกตั้ง และกกต. ก็ไม่รู้ว่าจะจัดการเลือกตั้งได้อย่างไร จะไปเอากฎหมายเลือกตั้งเก่ามาใช้ก็ขัดกับรัฐธรรมนูญที่ได้แก้ไขไปแล้ว ถือเป็นเรื่องใหญ่หลวงมาก อย่าลืมว่าศาลเคยตัดสินให้กกต ติดคุกมาแล้วเพราะจัดการเลือกตั้งโดยไม่ชอบ กกต ก็คงไม่กล้าเสี่ยงจัดการเลือกตั้งไปแล้วสุดท้ายตัวเองต้องติดคุก รัฐบาลจะรักษาการไปยาวก็จะเกิดม็อบลงถนน เกิดการจลาจลหรือแรงกดดันต่าง ๆ มามากมาย แต่สุดท้ายเมื่อจัดเลือกตั้งไม่ได้ก็ต้อง set zero อยู่ดี สถานการณ์ที่ 2. อภิปรายไม่ไว้วางใจ/เอา พรบ. งบประมาณ/การเงินสำคัญเข้าสภา แพ้โหวตในสภา รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีต้องลาออก โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ สภาล่มซ้ำซากเกือบจะ 20 ครั้งแล้ว ต้องขนกล้วยกันเข้าไปแจกในสภาเป็นประจำ กระนั้นก็ยังเอาไม่อยู่ กล้วยไม่ได้ผลจริง ๆ หรือเพราะกล้วยไม่มากพอ แจกกล้วยไปแล้วแต่ไม่พอ อำนาจซื้อของกล้วยลดลง แต่ถ้าโหวตแพ้ในสภาและเป็นกฎหมายสำคัญ นายกรัฐมนตรีก็ต้องลาออกและคณะรัฐมนตรีก็พ้นสภาพไปด้วย ในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ถึงเวลาต้องเปิดสภาอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ดังนั้นจึงเป็นเงื่อนเวลาที่ไม่อาจจะเลี่ยงได้ ถ้าโหวตแพ้ในสภาแบบนี้นายกรัฐมนตรีน่าจะเสียหน้ามาก ทั้งยังไม่มีอำนาจใด ๆ เหลือในมือเพื่อจะรักษาการหรือควบคุมการจัดเลือกตั้งได้อีก น่าจะถือว่าเป็นความเสียหายหนักมากของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีเอง ทั้งนี้กรณีนี้ยังไม่ถือว่า dead lock แต่ก็เกือบ dead lock และใครจะมีบารมีพอที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีในเวลานี้แล้วเอาอยู่ คุมสิงสาราสัตว์ในสภาผู้แทนราษฎรได้ แล้วถ้าคุมไม่อยู่หรือเกิด buffet cabinet มากๆ ก็เกิดการ set zero ได้อีก อันนี้เรียกว่า near dead lock แล้วกัน แต่ก็สุ่มเสี่ยงมากที่จะเกิด dead lock ในที่สุด สถานการณ์ที่ 3. สภาล่ม-->ยุบสภา--> พรป. เลือกตั้งยังไม่เสร็จ -->นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลรักษาการ -->เกิดวิกฤติ/แรงกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากการรักษาการ กรณีนี้เป็น double dead lock หาทางออกได้ยากมาก เพราะยุบสภาแล้วนายกรัฐมนตรีรักษาการยังลาออก จะเกิดสุญญากาศทางการเมืองอย่างชัดเจน ซึ่งเมื่อนายกรัฐมนตรีลาออกหลังยุบสภาแล้ว จะไม่สามารถสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่มาบริหารประเทศ จะจัดเลือกตั้งก็จัดไม่ได้ เพราะพรป. เลือกตั้งยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งน่าจะจำเป็นต้อง set zero เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ ผมวิเคราะห์ว่าเส้นทางสู่การเลือกตั้งแบบราบรื่นและรัฐบาลอยู่ได้ลากยาวนั้น ผมประเมินว่ามีความเป็นไปได้น้อยมาก ดีไม่ดีการเลือกตั้งจะไม่เกิดขึ้นง่ายๆ ไม่ว่าจะระดับไหนก็ตาม