ราคาหมูที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 6 เป็นภาพสะท้อนกลไกตลาดที่ทำงานได้อย่างเสรี จากราคาเนื้อหมูที่สูงขึ้นในช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ส่งผลในเชิงจิตวิทยาทำให้ผู้บริโภคลดการบริโภคเนื้อหมู เข้าหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน ที่เมื่อราคาสินค้าปรับตัวขึ้นสูงมากๆ จากปริมาณสินค้าที่น้อยลงจนไม่เพียงพอกับการบริโภค ในที่สุดผู้บริโภคจะปรับตัวด้วยการหยุดบริโภคไปช่วงหนึ่ง จนกระทั่งปริมาณสินค้าในตลาดกลับมาสมดุลกับความต้องการของตลาด ราคาจะเป็นไปตามปกติเอง
วันนี้ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มปรับลดลงมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 94-97 บาท ส่วนราคาหน้าเขียงกลับมาต่ำกว่า 200 บาทต่อกิโลกรัม โดยหมูสันนอก-สันในกิโลกรัมละ 190 บาท หมูเนื้อแดงล้วน 170 บาท หมูบด 120–140 บาท ขณะเดียวกัน ห้างค้าปลีกต่างๆก็ร่วมกันจำหน่ายหมูราคาประหยัด อย่างเช่น ห้างแม็คโครจัดแคมเปญจำหน่ายหมูราคาพิเศษ “สะโพกหมูกิโลกรัมละ 150 บาท” เพื่อช่วยลดค่าครองชีพแก่ผู้บริโภค
ภาวะราคาหมูที่ปรับตัวกลับมาปกติได้เอง ด้วยการปล่อยให้กลไกตลาดได้ทำงานอย่างเสรี โดยไม่ต้องมีการควบคุมนี้ ถือเป็นความสำเร็จของการแก้ปัญหาหมูราคาแพง ที่ทั้งนักเศรษฐศาสตร์แนะนำและเกษตรกรผู้เลี้ยงเรียกร้อง เมื่อภาครัฐเปิดใจรับฟังก็ทำให้สถานการณ์ราคาหมูคลี่คลายได้อย่างรวดเร็ว
ราคาหมูขุนและเนื้อหมูที่ลดลงนี้ แสดงให้เห็นว่าปริมาณหมูเพียงพอค่อนไปทางมากกว่าความต้องการบริโภคเสียด้วยซ้ำ เรื่องที่บางฝ่ายพยายามผลักดันให้มีการนำเข้าหมูมาเพื่อบาลานซ์สต๊อกในประเทศ จึงกลายเป็นคำถามตัวโตๆที่ภาคผู้เลี้ยงอยากถามว่า ในเมื่อหมูลดราคาแล้ว จะให้นำเข้าหมูมาเพื่ออะไร?
สุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ ให้ความเห็นว่าการนำเข้าเนื้อหมูเป็นการทำลายอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูไทยอย่างแน่นอน และซ้ำเติมปัญหาที่เกษตรกำลังประสบอยู่ เพราะโดยภาพรวมผู้เลี้ยงได้รับผลกระทบจากโรคระบาดในหมู ทำให้หมูเสียหาย ส่งผลให้ภาคผู้เลี้ยงเกิดความไม่มั่นใจในการลงทุนเลี้ยงหมู ปริมาณหมูในระบบจึงหายไปมากกว่า 50% และมีเกษตรกรที่ต้องเลิกเลี้ยงหมูหรือหยุดเลี้ยงเพื่อรอดูสถานการณ์มากถึง 100,000 ราย จากจำนวนเกษตรกรกว่า 200,000 รายทั่วประเทศ
นอกจากนี้ คนเลี้ยงหมูยังต้องแบกรับปัจจัยการผลิตที่แพงขึ้น โดยเฉพาะวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ราคาปรับสูงขึ้นทุกชนิดรวมกว่า 30-40% เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปัจจุบันราคาสูงถึง 10.90 บาทต่อกิโลกรัม และมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกเนื่องจากใกล้เสร็จสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิต ส่วนกากถั่วเหลืองนำเข้าราคาพุ่งไปกิโลกรัมละ 20.80 บาท โดยคาดการณ์ผลผลิตจะลดลงอย่างต่อเนื่อง จากสภาวะอากาศแห้งแล้งในประเทศผู้ผลิตสำคัญทั้งอาร์เจนตินาและบราซิล ขณะเดียวกัน เกษตรกรยังมีรายจ่ายที่ต้องเสริมเข้าไปมากกว่าภาวะปกติ ทั้งค่าน้ำยาฆ่าเชื้อและสารเสริมสุขภาพในอาหาร เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาโรคในหมู ทำให้ปัจจุบันต้นทุนการเลี้ยงหมูปรับสูงถึง 94.69 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว
ผู้เลี้ยงที่ยังอยู่ในระบบจะมีกำไรได้แค่กรณีเดียวคือ หมูต้องมีราคาขายที่เหมาะสม สอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น หากกดราคาหมูมีชีวิตลงไปมากกว่า 90 บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรเกือบทั้งหมดจะขาดทุนทันที และไม่สามารถกลับเข้าวงจรการเลี้ยงใหม่ได้ ยิ่งปล่อยให้มีการนำเข้าเนื้อหมู ก็จะทำให้ราคาตลาดร่วงลงทันที และเกษตรกรทั้งหมดจะไปต่อไม่ได้ ต้องออกจากอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูในที่สุด
ขณะที่นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ บอกว่าเป็นข่าวดีของเกษตรกรที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยืนยันว่ายังไม่มีนโยบายนำเข้าหมูจากต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นนโยบายที่ถูกต้อง เพราะปริมาณเนื้อหมูในประเทศมีเพียงพอกับความต้องการ ราคาหมูลดลงแล้วทั้งหน้าฟาร์มและหน้าเขียง จากการที่ภาครัฐแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด โดยไม่ทำให้กลไกตลาดเสียหาย ที่สำคัญการไม่ปล่อยให้มีการนำเข้า ยังเป็นแรงจูงใจสำคัญให้เกษตรกรหันกลับมาเลี้ยงหมู เพื่อเพิ่มปริมาณหมูเข้าสู่ระบบโดยเร็วที่สุดด้วย
วันนี้ทุกภาคส่วนกำลังขับเคลื่อนแนวทางแก้ปัญหาราคาหมูอย่างเป็นระบบ เกษตรกรผู้เลี้ยงเร่งเพิ่มปริมาณหมูเต็มกำลัง ภาครัฐออกมาตรการสนับสนุนเกษตรกรอย่างเต็มที่ ดังนั้นต้องไม่ให้เนื้อหมูนำเข้ามาทำลายเสถียรภาพของอุตสาหกรรมหมู บ่อนทำลายเกษตรกร และฉุดการแก้ปัญหาที่กำลังเป็นไปได้ด้วยดี
โดย : ปฏิภาณ กิจสุนทร นักวิชาการอิสระ ศึกษาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมสุกรในประเทศไทย