นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้มาตรการส่งเสริมการลงทุนและการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย เริ่มมีความชัดเจนแล้ว และคาดว่าคณะกรรมการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย (บอร์ดอีวี) จะเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาได้เร็วๆนี้ โดยคาดว่าจะลดภาษีเป็นแพ็กเกจ ทั้งภาษีนำเข้ารถยนต์ ซึ่งปัจจุบันมีความแตกต่างกันอยู่ในหลายภูมิภาค เช่น บางประเทศเก็บ 0% บางประเทศ 20-40% ให้ลดลงมาในระดับที่แข่งกันกันได้ รวมถึงอัตราภาษีสรรพสามิตก็ปรับจะลดลงด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลจะมีส่วนการสนับสนุนเป็นตัวเงินในรูปแบบเงินอุดหนุน เพื่อทำให้ราคาจำหน่ายรถยนต์ในประเทศถูกลง เป็นการส่งเสริมคนไทยมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น หากรวมมาตรการทางภาษี กับเงินอุดหนุนแล้ว จะทำให้ราคารถยนต์พลังงานไฟฟ้าลดลงมาได้เยอะ เช่น ขนาดใหญ่ อาจจะมีส่วนลดมากกว่า 150,000 บาท ขณะที่รถขนาดเล็กอาจจะมีส่วนลดราคาหลายหมื่นบาท อย่างไรก็ตาม มาตรการสนับสนุนรถอีวี จะไม่ได้เป็นการลดภาษี หรือมีเงินอุดหนุนแบบให้เปล่า เพื่อให้ซื้อรถยนต์ราคาถูกอย่างเดียว แต่มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมดึงดูดการลงทุนเข้าประเทศในระยะยาว โดยผู้ประกอบการรถยนต์ที่จะเข้าร่วมใช้สิทธิ จะต้องมีเงื่อนไขเข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทยด้วย เพราะมาตรการนี้มีเจตนาหลักต้องการ ให้เกิดการลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามาแทนรถยนต์พลังงานสันดาป เช่น หากบริษัทไหนเข้าร่วมมาตรการ และจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าได้ 100,000 คัน ก็มีเงื่อนไขต้องเข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย 150,000 คัน ภายใน 2-3 ปี เป็นต้น "มาตรการส่งเสริมอีวี ไม่ได้ตั้งใจทำมาเพื่อลดราคา เพื่อให้นำเข้ารถไฟฟ้ามาขายในไทยราคาถูกเพียงอย่างเดียว แต่เป้าหมายสำคัญคือรัฐบาลต้องการส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในไทยเพิ่มขึ้น โดยจะใช้การอุดหนุนราคาหรือลดภาษี เป็นเพียงแพ็กเกจส่วนหนึ่ง ในการจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตเพราะเหมือนเป็นการช่วยทดลองตลาดดูว่า รถรุ่นไหนน่าสนใจ รถรุ่นไหนได้รับความนิยม ก็จะทำให้ตัดสินใจเข้ามาผลิตขายรถรุ่นนั้นได้ก่อน"