วันที่ 13 ก.พ.65 เวลา 09.00 น. นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง พร้อมด้วยนางชุติพร วิจิตร์แสงศรี ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอ่างทอง เข้าร่วมพิธีรับมอบลายผ้าพระราชทาน "ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา" ซี่งเป็นพระกรุณาธิคุณของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงออกแบบพระราชทานเป็นของขวัญให้แก่พสกนิกรช่างทองผ้าไทย เพื่อสร้างอาชีพ รายได้ และส่งเสริม สืบสาน รักษา ต่อยอด อัตลักษณ์ภูมิปัญญาผ้าไทย ให้ทั้ง 76 จังหวัด ให้ดำรงอยู่คู่แผ่นดิน โดยมีนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีฯ พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ร่วมพิธีด้วย ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ ชั้น 2 โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเตล อะลักชัวรี คอลเลคชั่น โฮเตล ถนนวิทยุ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
สำหรับ “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” นั้น สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทรงได้รับแรงบันดาลพระทัยจาก “ผ้าขิดลายสมเด็จ” ซึ่งปรากฏอยู่บ่อยครั้งในฉลองพระองค์ของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงทรงนำมาต่อยอดให้มีความร่วมสมัย แต่ละลวดลายมีความหมายที่ลึกซึ้ง ดังนี้
1.ลาย S ที่ท้องผ้า หมายถึง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง(สมเด็จย่า) ที่ทรงเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทย ทั้งนี้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ได้ทรงออกแบบให้เว้นช่องว่างไว้ เพื่อให้พสกนิกรได้ร่วมถักทอลวดลายของตนเองลงในช่องว่าง เป็นการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวสำหรับแต่ละท้องถิ่น ส่วนลายขิดที่ล้อมรอบตัว S หมายถึงความจงรักภักดีที่ชาวไทยมีต่อพระบรมราชจักรีวงศ์
2.ลายเชิงผ้ารูปหัวใจ หมายถึง ความรักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่มีต่อปวงชนชาวไทย
3.ลาย S ประกอบกับลายขิดที่เชิงผ้า หมายถึง สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทรงปรารถนาให้คนไทยอยู่ดีมีสุข
4.ลายต้นสนที่เชิงผ้า หมายถึง พระดำริใน สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ในการฟื้นฟูโครงการศิลปาชีพฯ
5.ลายต้นสน เป็นลวดลายพื้นถิ่นของบ้านนาหว้า จังหวัดนครพนม ที่ซึ่งเป็นจุดกำเนิดโครงการศิลปาชีพฯ
6.ลายหางนกยูงที่เชิงผ้า หมายถึง ความตั้งพระทัยมั่นของ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ ในการสืบสาน รักษาและต่อยอด พระราชกรณียกิจของสมเด็จย่าฯ ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทย
ทั้งนี้ จังหวัดอ่างทองมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้า บ้านดอนบ่อ ต.วังน้ำเย็น อ.แสวงหา ซึ่งชุมชนมีความสามัคคีและเข้มแข็ง โดยจังหวัดจะได้อัญเชิญลายผ้าไปบูรณาการในพื้นที่ต่อไป