ธุรกิจอวกาศคึกคัก ล่าสุดบริษัทเอกชนญี่ปุ่น ispace ประกาศส่ง "ซีรีส์ 1" ยานสำรวจดวงจันทร์ลำแรกเร็วสุดปลายปีนี้ โดยขั้นตอนต้องใช้บริการจรวดฟัลคอน 9 ของสเปซเอ็กซ์ มุ่งเป้าเป็นยานเอกชนลำแรกที่จอดในจุดที่ยังไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน โดยเฉพาะขั้วดวงจันทร์ ที่หลายชาติต่างจ้องตาเป็นมันหวังเป็นแหล่งพลังงานการเดินทางในอวกาศในอนาคต
NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ "ispace บริษัทเอกชนญี่ปุ่น ประกาศกำหนดส่งยานสำรวจดวงจันทร์ โดยเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ispace บริษัทเอกชนด้านเทคโนโลยีอวกาศของญี่ปุ่น ประกาศกำหนดการส่งยานสำรวจดวงจันทร์สองลำแรกภายใต้โครงการฮากุโตะ-อาร์ (Hakuto-R) ของภารกิจ M1 จะขึ้นสู่อวกาศอย่างเร็วที่สุดในปลายปี พ.ศ.2565 ส่วนยานของภารกิจ M2 ถูกเลื่อนไปส่งในปี พ.ศ.2567
บริษัท ispace เปิดเผยว่า ในปี พ.ศ.2565 นับเป็นช่วงเวลาสำคัญของบริษัทในการเตรียมการเพื่อภารกิจ M1 โดยยานลงจอดในรุ่น “ซีรีส์ 1” (Series 1) ของภารกิจ M1 อยู่ในขั้นตอนการประกอบยานที่ใกล้เสร็จแล้ว เพื่อให้ทันกำหนดส่งยานขึ้นสู่อวกาศภายในช่วงสามเดือนสุดท้ายของปีนี้
ขั้นตอนต่างๆ สำหรับการเตรียมยานรุ่นซีรีส์ 1 ของภารกิจ M1 มีหลายขั้นตอน เช่น การรวมชิ้นส่วนยานส่วนบนกับส่วนล่างเข้าด้วยกัน และการติดตั้งอุปกรณ์บนยาน ได้แก่ เครื่องกระจายความร้อน ฉนวนความร้อนหลายชั้น แผงเซลล์สุริยะ อุปกรณ์สำหรับการลงจอด กลไกปล่อยรถสำรวจขนาดเล็ก ตลอดจนสัมภาระจากองค์กรอื่นที่ติดไปด้วย
เมื่อประกอบยานเสร็จแล้ว จะนำตัวยานไปทดสอบและขนส่งไปยังสหรัฐอเมริกา เพื่อติดตั้งยานลงในจรวดฟัลคอน 9 ของบริษัท SpaceX ในภารกิจนี้ เมื่อยานลงจอดแล้วจะทำหน้าที่ส่งสัมภาระต่างๆ ลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ รวมถึงรถสำรวจรอชิด (Rashid) ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ด้วย
สำหรับภารกิจ M2 นั้นจะใช้ยานลงจอดรุ่นเดียวกันกับภารกิจ M1 นั่นคือยานซีรีส์ 1 โดยสิ่งที่แตกต่างออกไปจากเดิมคือยานลงจอดในภารกิจนี้จะบรรทุกยานสำรวจขนาดเล็กที่ทางบริษัทพัฒนาเองขึ้นไปด้วย ขณะนี้ ispace กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อให้ยานมีน้ำหนักเบาและมีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่จะทำได้ จากนั้นก็จะส่งขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวดฟัลคอน 9 เช่นกัน
ยานลงจอดในรุ่นถัดไปคือยาน “ซีรีส์ 2” (Series 2) ที่จะมีขนาดใหญ่ขึ้นและซับซ้อนขึ้น สามารถบรรทุกสัมภาระได้ 500 กิโลกรัม เพื่อปล่อยลงสู่พื้นผิวดวงจันทร์ จะเริ่มใช้ในภารกิจ M3 อย่างไรก็ดี ภารกิจ M3 ยังไม่มีกำหนดการที่แน่นอน เนื่องจากอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามกำหนดการของภารกิจ M2 ที่อาจเกิดความล่าช้าได้
ตัวยานลงจอดพัฒนาโดยบริษัท General Atomics และบริษัท Draper ซึ่งเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีในสหรัฐอเมริกา และแบบยานลงจอดในขั้นต้นได้ผ่านการพิจารณาโดย ispace เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2564 โดยออกแบบให้มีช่องบรรทุกสัมภาระหลายช่อง เพื่อให้ภารกิจมีความยืดหยุ่น สามารถปรับภารกิจให้รองรับการบรรทุกสัมภาระจากภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรทางวิทยาศาสตร์ลงสู่ดวงจันทร์ได้
นอกจากนี้ บริษัท ispace ยังตั้งความหวังว่ายานลงจอดของตนจะเป็นยานลงจอดบนดวงจันทร์ภาคเอกชนลำแรก ที่สามารถอยู่รอดจากช่วงกลางคืนที่หนาวเย็นบนดวงจันทร์ได้ และมีศักยภาพสามารถใช้ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้หลายบริเวณ ไม่ว่าจะเป็นพื้นผิวฝั่งที่หันเข้าหาโลก ฝั่งที่หันออกจากโลก หรือบริเวณขั้วดวงจันทร์
ในขณะเดียวกัน องค์การอวกาศและบริษัทเทคโนโลยีอวกาศในสหรัฐอเมริกาและชาติอื่นๆ ต่างสนใจบริเวณขั้วของดวงจันทร์ สำหรับเป็นพื้นที่ลงจอดของยานในโครงการอาร์ทีมิส (Artemis program) เพื่อพามนุษย์กลับไปสำรวจบนพื้นผิวดวงจันทร์ในปี พ.ศ.2568 เนื่องจากบริเวณดังกล่าวตกอยู่ในเงามืดตลอดเวลา และมีน้ำแข็งอยู่ที่ก้นหลุมอุกกาบาตเป็นจำนวนมาก อาจนำมาใช้อุปโภคบริโภคและใช้เป็นแหล่งเชื้อเพลิงสำหรับภารกิจสำรวจดวงจันทร์ในอนาคตได้
นอกจากนี้ บริษัท ispace ยังตั้งเป้าหมายไว้ว่า ยานลงจอดซีรีส์ 2 จะเข้าร่วมโครงการ Commercial Lunar Payload Service หรือ CLPS ของ NASA ที่เป็นโครงการส่งอุปกรณ์และสัมภาระทางวิทยาศาสตร์ไปสู่ดวงจันทร์ เพื่อสนับสนุนโครงการอาร์ทีมิสต่อไปในอนาคต
เรียบเรียง: พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.
ที่มา
https://www.space.com/ispace-delays-second-moon-mission-2024