บทความพิเศษ / ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) บทบาท “การบริหารการพัฒนา” เพื่อการขับเคลื่อนงานท้องถิ่นที่สำคัญได้แก่ (1) การบริการและการจัดทำกิจกรรมสาธารณะ (2) การพัฒนารายได้ (3) การบังคับใช้กฎหมาย(ท้องถิ่น)อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม มิได้หมายความว่าท้องถิ่นหรือ อปท. มีบทบาทเพียงเท่านี้ แท้จริงแล้ว อปท.มี “อำนาจและหน้าที่” มากมาย ตามบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมายจัดตั้ง อปท. และ กฎหมายการกระจายอำนาจ ที่ตีกรอบไว้เพียง 3 ประการเพราะเห็นว่าสำคัญมาก ด้วยความชะงักงันของการกระจายอำนาจทำให้บทบาทอำนาจหน้าที่ภารกิจของ อปท.มีความสับสน ซ้ำซ้อน ไม่ชัดเจน หรือละเลยในอำนาจหน้าที่ที่ควรจะกระทำ ประกอบกับมิติศักยภาพประสิทธิภาพของแต่ละท้องถิ่นก็แตกต่างกันด้วยบริบทและทรัพยากรการบริหารที่ต่างกัน อปท.หลายแห่งมีขนาดเล็ก บางแห่งขนาดใหญ่ บางแห่งเขตพื้นที่เมืองใหญ่ บางแห่งเป็นชนบท อยู่ห่างไกล เขตป่าเขา ทะเล ฉะนั้น ในการวิเคราะห์ การจัดลำดับการพัฒนา และรวมทั้งการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่น เพื่อให้ไปสู่เป้าหมาย จึงทำได้ยากลำบาก ปัญหาพื้นฐานประชาธิปไตยไทย ในช่วงแรกของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปเน้นพัฒนาเศรษฐกิจมาก (ยุค 1.0) สร้างค่านิยมลัทธิบริโภคนิยม (วัตถุนิยม) ส่งผลกระทบในปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตย ขาดธรรมาภิบาล ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน เพราะประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการควบคุมและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในการจัดสรรคุณค่าและระเบียบของสังคมได้ ประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ ผู้คนมีอัธยาศัยไมตรีเอื้ออาทร มีวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม สังคมชุมชนมีความผูกพันกันฉันพี่น้องได้รับฉายาว่า “สยามเมืองยิ้ม” แต่ในยุคโลกาภิวัตน์ไทยประสบปัญหาพื้นฐาน 5 ด้าน (2557) คือ (1) ความไม่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงของสังคมการเมืองการปกครองไทย (2) ระบบเศรษฐกิจเสรีที่ไม่เสมอภาคและเท่าเทียมกัน (3) สังคมไม่เป็นธรรมหรือสังคมด้อยคุณภาพ (4) ความน่าเชื่อถือของรัฐในระดับนานาชาติ และ (5) ความมั่นคงปลอดภัยของชาติ ท่ามกลางสารพัดปัญหาการพัฒนาดังกล่าว ปัญหาสำคัญยาดำคือ “ปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลายๆมิติ” เช่น ปัญหาการกระจายรายได้ ปัญหาความยากจน สรุปแยกกลุ่มปัญหาท้องถิ่นได้ดังนี้ (1) ด้านการบริหารงาน (2) ด้านการบริหารการเงินการคลัง (3) ด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ การบริหารงานบุคคล (4) ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน (5) การทับซ้อนของอำนาจ การที่มีรูปแบบการปกครองส่วนภูมิภาค (6) ความล่าช้าในการกระจายอำนาจ ข้อมูลคนจน (1 กุมภาพันธ์ 2565) จากประชากร 66.17 ล้านคน มี “คนจน 20 ล้านคน” คิดเป็น 1 ใน 3 จากเดิมมีผู้ถือ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” (บัตรคนจน) 13.45 ล้านคน ตามนิยามนี้ตัดเส้นแบ่งรายได้ต่อหัวปีละไม่เกิน 1 แสนบาท จะเรียกว่า “คนจนสมัยใหม่หรือรุ่นใหม่” คงไม่ผิด ในขณะที่ยอดหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปี 2564 สูงมากถึง 9.64 ล้านล้าน คิดเป็น 59.57% ของ GDP หรือ 3 เท่าของงบประมาณรายจ่ายทั้งปีของประเทศ การบริหารการพัฒนา (Development Administration) ในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) ในมิติของการพัฒนาเกี่ยวข้องกับทฤษฎี หลักการ แนวคิด มากมาย ตามที่เทคโนแครตจะสรรหามาอธิบาย บางอย่างออกจะเลิศหรูบ้าง เพ้อฝันบ้าง ตามกระแส โหนกระแสบ้าง ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็น “วาทกรรม” ที่ไม่เป็นจริงเป็นจัง เป็นการหาเสียง กลบปัญหา เยินยอ ยกยอ เสียมากกว่า ปัญหา “พัฒนาการการปกครองส่วนท้องถิ่น” หรือ อปท. ในช่วง “ระยะเวลาการเปลี่ยนผ่าน” (Transition Period) เป็นเรื่องลำบากใจ ที่จักต้องเปลี่ยนแปลง เพียงแต่รอวันตกผลึก ท่ามกลางสถานการณ์ลำบากที่อิหลักอิเหลื่อพะอืดพะอม “ภาวะเขาควายกลืนไม่เข้าคายไม่ออก” (dilemma) เพราะตลอดช่วงรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ถึง 15 ปี มีความพยายามยกร่างกฎหมายท้องถิ่นหลักอยู่หลายรอบ ก็แก้ปัญหาไม่ตกไม่เป็นผลสำเร็จ “ศาสตร์แห่งการบริหารการพัฒนา” จากตะวันตกคือ “Development of Administration” (D of A เน้นมิติการพัฒนา) หรือ “Administration of Development” (A of D เน้นมิติการบริหาร) แปลเป็นไทยกลับไปกลับมาได้สองคำแต่ความหมายเดียวกันคือ “การพัฒนาการบริหาร” หรือ “การบริหารเพื่อการพัฒนา” ซึ่งไม่แน่ใจว่าคำหลังจะแปลถูกต้องเพียงใด แต่ก็เรียกแทนกันได้ คำศัพท์ดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ “การพัฒนา” (Development) ซึ่ง “Development Administration” (DA) เป็นศาสตร์สาขาหนึ่ง (องค์ความรู้) ที่ว่าด้วยการพัฒนา เรียก สาขา “การบริหารการพัฒนา” หรือ “พัฒนศาสตร์/พัฒนบริหารศาสตร์” ในสาขาวิชา “Public Administration” หรือวิชารัฐประศาสนศาสตร์ หรือวิชาบริหารรัฐกิจ (มธ.และ มร.ใช้คำศัพท์นี้) ที่ใช้ทฤษฎีทางสังคมศาสตร์พฤติกรรมศาสตร์ที่เรียกว่า “ทฤษฎีปทัสถาน” (Normative theories) มิใช่ “Positive theories” หรือ “ศาสตร์ธรรมชาติ” (Natural science) ซึ่งในแต่ละบริบทสังคมอาจมี “Paradigm” (กรอบการมอง/ขอบข่ายความคิด/กระบวนทัศน์) ของตนเองได้ มาอธิบายชี้นำด้วยเหตุผลต่างๆ บนพื้นฐานการอ้างอิงที่ “ควรจะเป็น” เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย นอกจากนี้ “Development Administration” ยังหมายถึง “กิจกรรม” หรือกระบวนการ การบริหารการพัฒนา (D of A & A of D) แต่นักวิชาการอเมริกันเห็นว่า “การบริหารการพัฒนา” หมายถึง การบริหารในประเทศที่ยากจนหรือประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย (administration in poor developed countries which are committed to development) มีการปฏิบัติงานตามแผนงาน การเปลี่ยนแปลงระบบบริหาร การปรับปรุงกลไกส่วนต่างๆ ของการบริหารให้มีประสิทธิภาพ ที่จะรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสังคม เพื่อก่อให้เกิดความทันสมัย (Modernity) เป็น “Administration for Development” สรุป DA = A of D + D of A แต่ผู้รู้แนะนำว่า ไม่จำเป็นต้องมาเถียงกันมากนักในนิยามความหมายของสาขาวิชานี้ สังคมสู่การการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ท่ามกลางวิกฤตนานาในปัจจุบัน ไทยประสบปัญหามากในการปรับตัวและวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศ (Leader) เพียงลำพังประชาชนในประเทศฝ่ายเดียวไม่มีพลัง แม้จะอุดมด้วยพลัง Soft Power อาทิ วัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นมากเพียงใดก็ตาม การขับเคลื่อนนโยบายในเวทีโลกระหว่างประเทศย่อมต้องอาศัย “ภาวะผู้นำรัฐ” และระบบบริหารประเทศที่เป็นสากลมี “ธรรมาภิบาล” (Good Governance) ด้วย ส่วนความแข็งแกร่งของสังคมประชาชนพลเมืองในพื้นที่นั้นก็สำคัญ ภาวะถดถอยตกต่ำของสังคมบ้านเมือง ปัญหาความแตกแยกทางความคิด เศรษฐกิจไม่เดิน ประชาชนรากหญ้าในพื้นที่อดอยากปากแห้ง ถูกรุมเร้าด้วยวิกฤตปัญหานานา ไม่เว้นแม้วิกฤตเศรษฐกิจ โรคโควิด ภาวะการครองชีพที่สูง การตกงาน พืชผลตกต่ำ เกษตรกรไม่มีรายได้ ฯลฯ เหล่านี้เป็นโจทย์ปัญหาที่ฝ่ายอำนาจรัฐต้องทุ่มพลังเดินหน้า วางแผนแก้ไขปัญหาแบบเชิงรุก (Proactive) ไม่โทษผู้อื่น ไม่ปล่อยปละไปตามสถานการณ์ ไม่เพียงรอรับเหตุรอรับคำสั่งแก้ไชปัญหาเฉพาะหน้าเป็นคราวๆ แบบเชิงรับ (Reactive or Passive Action) ผู้บริหารบ้านเมืองต้องเปลี่ยนวิสัยทัศน์ใหม่ให้ทันโลกที่พลิกผันตลอด (Disruptive) เป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาทั้งปวงก็เพื่อ (1) ทำให้ประชาชนเข้าถึงศักยภาพสูงสุดที่ธรรมชาติให้บรรลุถึงขีดความสามารถสูงสุดที่พึงมี (2) การพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนให้สุขสมบูรณ์พูนสุข (Well being) คือ ตามพันธสัญญากรอบการพัฒนาของสหประชาชาติ (UN, 2015) สู่เป้าหมาย “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” (SDGs) โดยมุ่งมั่นที่จะขจัดความหิวโหยและความอดอยากทุกรูปแบบ ให้แล้วเสร็จภายในปี 2030 (พ.ศ.2573) เพื่อให้แน่ใจว่าประชาชนคนไทยทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและผู้ด้อยโอกาสจำนวนมาก ได้รับการเข้าถึงอาหารที่เพียงพอและมีคุณค่าทางโภชนาการตลอดทั้งปี เป้าหมายนี้ยังเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการเกษตรอย่างยั่งยืน การปรับปรุงคุณภาพชีวิต การชูประเด็น “ธรรมาภิบาล” SDGs ตามแนวทางของสหประชาชาติ เป็นพันธกรณีที่ประชาคมโลกต้องถือปฏิบัติด้วยกระแสโลก (Globalization) และด้วยอำนาจพลังของระเบียบโลกใหม่สู่โลกขั้วเดียว (New World Orders) เพราะนานาประเทศต้องอยู่ร่วมสังคมโลก ประเทศสมาชิกทั้งหมดจึงหลีกเลี่ยงวิวัฒนาการนี้ไม่ได้ จะปลีกวิเวกโดดเดี่ยวตนเองไม่ได้ ไม่ว่าการบริหารประเทศต้องสอดคล้องกับอารยประเทศ รวมทั้งการจัดระเบียบการปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยเช่นกัน เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 17 เป้าหมาย ประกอบไปด้วย 169 เป้าหมายย่อย (SDG Targets) ที่มีความเป็นสากล เชื่อมโยงและเกื้อหนุนกัน และกำหนดให้มี 247 ตัวชี้วัด เพื่อใช้ติดตามและประเมินความก้าวหน้าของการพัฒนา โดยสามารถจัดกลุ่ม SDGs ตามปัจจัยที่เชื่อมโยงกันใน 5 มิติ (5P) ได้แก่ (1) การพัฒนาคน (People) ให้ความสำคัญกับ การขจัดปัญหาความยากจนและความหิวโหย และลดความเหลื่อมล้ำ ในสังคม (2) สิ่งแวดล้อม (Planet) ให้ความสำคัญกับการปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสภาพ ภูมิอากาศเพื่อพลเมืองโลกรุ่นต่อไป (3) เศรษฐกิจและความมั่งคั่ง (Prosperity) ส่งเสริมให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีและสอดคล้องกับธรรมชาติ (4) สันติภาพและความยุติธรรม (Peace) ยึดหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีสังคมที่สงบสุข และไม่แบ่งแยก และ (5) ความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา (Partnership) ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน มีตัวอย่างโครงการธรรมาภิบาลที่ประสบผลสำเร็จด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (2551) ได้แก่ อบจ.แพร่ และ อบจ.วัดพิษณุโลก รัฐอำนาจนิยม (Top down Style) จะพร้อมกระจายอำนาจกันเมื่อใด ด้วยเทคนิคการบริหารการพัฒนาหลัก “อำนาจนิยม” หรือ “การผูกขาดอำนาจโดยรัฐราชการ” แบบ “Top down” เป็นสไตล์การบริหารงานที่ผูกขาด ใช้วิธีสั่งการจากผู้มีอำนาจเบื้องบน ในที่นี้รวมการ “บริหารการพัฒนา” ตามที่กล่าวข้างต้นด้วย ไม่ว่าโครงการเล็ก โครงการน้อย โครงสำคัญ โครงการนโยบาย โครงการแก้ไขปัญหาต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นแบบ Top down ขาดการมีส่วนร่วม ความพร้อม ไม่สอดรับกับบริบท (Context) ปัญหาและความต้องการของหมู่บ้านชุมชนในแต่ละท้องที่ และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ทำให้ขาด sense of community commitment ขาดสำนักรับผิดชอบต่อชุมชนถิ่นของตนเอง แม้โครงการพัฒนาสำคัญหัวใจที่ใช้วงเงินสูง เช่น โครงการโซลาร์เซลล์ โครงการประปาหมู่บ้าน โครงการสนาม/อุปกรณ์กีฬา โครงการสนามเด็กเล่น โครงการก่อสร้างอาคารสาธารณะชุมชนต่างๆ จึงขาดความต่อเนื่อง ขาดความสนใจทั้งจากภาครัฐและชุมชนในการสานต่อ โครงการหลายแห่งอาจเป็นโครงการทิ้งร้าง ไม่ประสบผลสำเร็จ เป็นต้น บทบาทเชิงการบริหารจากยอดปิรามิดเป็นศูนย์ประสานงานทั้งปวง โดยข้าราชการส่วนกลาง จะแก้ไขปัญหาประชาชนไม่ได้ ข้าราชการและส่วนราชการที่อยู่ส่วนกลางและส่วนภูมิภาคก็จะอยู่ต่อไปไม่ได้ บทบาทสำคัญในภาวะเปลี่ยนผ่านควรเน้น “งานประสาน” ประสานความคิด ประสานทรัพยากร ประสานการจัดการ ข่าวนายกรัฐมนตรีพูดถึงการขับเคลื่อนประเทศว่า ให้เชื่อมโยงการพัฒนาทั้ง Top Down และ Bottom Up เข้ากัน ในขณะที่ระบบการบริหารราชการยังคงระบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ (totalitarianism) เป็นระบบการเมืองที่รัฐถืออำนาจเต็มๆ จนเกิดปัญหาความตึงเครียดของระบบราชการกับประชาธิปไตย คงเป็นเพียงข้อเสนอแนะ ที่ขาดความเชื่อถือเพราะโครงสร้างเดิมไม่ปรับปรุงแก้ไข แนวคิดการบริหารที่ย้อนแย้งกับคำกล่าวจึงเป็นเพียง “วาทกรรม” ที่ไม่มีผลทางปฏิบัติ พูดเอาเท่ ขัดแข้งกับหลักการอำนาจเสรีนิยมประชาธิปไตย (Liberal) ที่รัฐต้องส่งเสริมความชอบธรรมและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และยอมรับความเห็นต่างได้ (Free of Speech) ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่คนคนดีระบบก็ต้องดี ระบบมีกลไกคนที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนเดินหน้า คนเพียงคนเดียวไม่สามารถขับเคลื่อนระบบได้ฉันใด การมองแต่หัวคนเดียว แต่องคาพยพถูกละเลย ระบบย่อมเดินไม่ได้ การขับเคลื่อนต้องให้งานสำเร็จ ไม่เพียงแต่การสร้างฝัน สร้างภาพ ด้วยคำพูดที่โก้สวยหรู แต่ปฏิบัติไม่ได้ เมื่อกลไกใดใช้งานไม่ได้ ต้องเปลี่ยนใหม่ให้งานเดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สังคมไทยยังมัวแต่แก้ชนิดที่แก้แล้วแก้อีกเป็นหลัก ไม่ยอมเปลี่ยน ปลูกจิตย้ำทำเดิมๆ คนเก่าๆ เพราะมัวแต่เกรงใจ ไม่ยอมรับความจริงในความผิดพลาดดังสังคมตะวันตก เกาหลี ญี่ปุ่น สังคมไทยมีจุดอ่อนตรงนี้ และไม่คิดจะแก้ไข จึงเปรียบเหมือนพายเรือในอ่าง หมดเวลาไปเปล่าๆ ไม่ถึงเป้าหมายสักที บางทีความหมาย ของคำว่าพอดีกับยอม ก็คือเรื่องเดียวกัน ในเมื่อผู้รับผิดชอบไม่ยอมทำอะไรเลย จะให้อยู่นิ่งเฉยได้อย่างไร การสมยอม ปาหี่ เล่นละคร แหกตา สร้างภาพ แลกผลประโยชน์กันลงตัว การทำตามที่ยอม ไม่ใช่วิสัยทัศน์ เพราะมันคือการ “จำนน” ไม่เป็นผลดีแก่สังคมเลย เป็นจุดอ่อนอย่างยิ่งที่ต้องขจัดความเชื่อและวัฒนธรรมแบบนี้เสียให้สิ้น ความพอดีแต่ไม่พอดี ในสังคมระบอบลวงๆ กลวงๆ มีภาพลวงตา (Illusion) ของนักการเมืองขี้โกง ราชการ และธุรกิจฉ้อฉลเป็นอันตรายต่อสังคมไทยยิ่ง ในสังคมการเมืองการปกครองประชาธิปไตยไทยทั้งภาคการเมือง ภาคราชการ ภาคศาสนา จะสงบสุขเจริญก้าวหน้าได้ใน 2 ทางคือ (1) เมื่อพบปัญหาต้อง “ร่วมกันแก้ไขด้วยเหตุและผล” มุ่งสร้างทางออกไม่สร้างทางตัน เช่น การรีบแก้ ด้วยแนวคิดทฤษฎีพุทธ ใช้หลักอโหสิกรรม ขมากรรม เวรกรรมจะเบาบางลง เหตุต้นตอปัญหามาจากคนทั้งนั้น สังคมมีแต่คนอวดเก่ง นั่นคืออัตตา ดีแต่ เก่ง โกง แซะ ชนแหลก ทิฐิ เขลา โลภะ โมหะ โทสะ และ (2) ทุกคนต้อง “แสวงหาความร่วมมือ” ไม่มุ่งร้ายล้มล้างซึ่งกันและกัน อดีตและปัจจุบันเป็นเช่นใดไม่ยกมากล่าวหากล่าวหาด้อยค่า (Bully) ต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน ยอมรับในความเห็นต่าง เมื่อสังคมไม่มีความขัดแย้งกันย่อมสงบสุข การแสวงหาความร่วมมืออย่างง่ายเช่น การลดระบบสายงานการบังคับบัญชาให้น้อยลง จะแก้ปัญหาการรวมศูนย์ลงได้ เพราะมีคำสั่งมีระเบียบกฎหมายมากมายย่อมไม่ได้ผล นอกจากนี้การหาความร่วมมือ “ต้องเอาใจทำงานมิใช่เอาเงินมาทำงาน” เพราะการทำงานด้วยเงินนำหน้า ไม่ใช้ “ใจ” (น้ำใจ) นำหน้า ผลลัพธ์ระยะยาวเกิดผลเสียแน่นอน การเข้าสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นก็เช่นกัน ที่ไม่ได้ยึดหลักความรู้ความสามารถ แต่ไปใช้เงินใช้เส้นสาย ระบบตั๋ว ความอลเวงในการบริหารงานย่อมเกิดขึ้น เปรียบเช่น หัวขี้เท่อ สั่งแถวเฟอะฟะ เพราะ “กลไกในการทำงาน” เป็นสิ่งสำคัญ แม้เป็นเพียงตัวจักรกลเล็กๆ แต่เมื่อหลอมรวมกันเป็นระบบอย่างเข้มแข็งแล้วจะเป็นทรงพลังอย่างยิ่ง และ “กลไกในการตรวจสอบระบบ” ก็สำคัญเช่นกัน ต้องแยกให้เป็นคนละกลุ่มกัน ไม่เบ็ดเสร็จอยู่ในกลุ่มเดียว เพราะผู้ประเมินตนเองจะหาความผิดตนเองไม่เจอ ย่อมเข้าข้างตนเอง ทั้งหัวหน้าฝ่ายการเมือง หรือหัวหน้าฝ่ายประจำ(ข้าราชการ) ต้องลดการบริหาร “แบบรวมศูนย์อำนาจ” เผด็จการ อำนาจนิยม อนุรักษ์นิยม เจ้ายศเจ้าอย่าง ลดใช้การบังคับบัญชา การออกคำสั่ง ไม่รับฟังเสียงสะท้อนปรึกษาหารือ และหันมาใช้การบริหาร “แบบกระจายอำนาจ” ด้วยความร่วมมือปรึกษาหารือกัน มีข้อสังเกตว่า เมื่อใดก็ตามที่เกิดกังฉิน (เจ้านายทุจริต) ขึ้นในองค์กร การบริหารแบบกระจายอำนาจจะจับผิดได้ง่ายกว่า มีความชัดเจน เห็นได้ชัดกว่าแบบรวมศูนย์อำนาจ ทำให้การเกิดกังฉินในระบบกระจายอำนาจมีน้อย หรือไม่เกิดเลย นี่เป็นข้อดี ข้อแตกต่างระหว่างการบริหารงานแบบรวมศูนย์อำนาจ กับแบบกระจายอำนาจ เกิดผลดีขนาดนี้แล้วคนไทยจะรอการกระจายอำนาจกันไปถึงไหน