สัปดาห์พระเครื่อง /ราม วัชรประดิษฐ์
พระอุปัชฌาย์คำ วัดสนามจันทร์ เป็นอีกหนึ่งพระเกจิของจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่มีชื่อเสียงเป็นที่เคารพเลื่อมใสของ พุทธศาสนิกชน โดยเฉพาะทางภาคตะวันออก วัตถุมงคลของท่านล้วนเป็นที่นิยมสะสม และแสวงหาอย่างกว้างขวางในแวดวงนักนิยมสะสมเหรียญคณาจารย์ โดยเฉพาะ "เหรียญปั๊มรูปเหมือน ปี 2481" ซึ่งเป็นเหรียญ รุ่นแรกของพระอุปัชฌาย์คำ และยังมีพระเกจิอาจารย์ดังๆ ในยุคนั้นร่วมจารอักขระและปลุกเสกอีกด้วย ปัจจุบันเป็นที่หวงแหนและหาดูหาเช่ายากมากครับผม
อัตโนประวัติของ พระอุปัชฌาย์คำ พรหมสุวัณโณ ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ.2401 ที่บ้านปากคลองสนามจันทร์ จ.ฉะเชิง เทรา เมื่ออายุครบในปี พ.ศ.2421 จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดสนามจันทร์ อ.บ้านโพธิ์ โดยมี หลวงพ่อแก้ว วัดบ้านโพธิ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายา "พรหมสุวัณโณ" ท่านใฝ่ใจศึกษาร่ำเรียนวิทยาการต่างๆ จากหลวงพ่อแก้ว จากนั้นศึกษาพุทธาคมจากอาจารย์พุ่ม ฆราวาสจอมขมังเวท ท่านเป็นพระภิกษุที่เคร่งครัดในศีลวัตร มีเมตตาธรรม เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้าน อ.บ้านโพธิ์ และพื้นที่ใกล้เคียงอย่างมาก ต่อมาท่านได้ รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสนามจันทร์ และปกครองพัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรืองเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง จนได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เรื่อยมาเป็นพระอุปัชฌาย์ และเจ้าคณะแขวง ท่านมรณภาพในปี พ.ศ.2488 สิริอายุ 87 ปี พรรษา 66
ปี พ.ศ.2481 พระอุปัชฌาย์คำได้ดำเนินการก่อสร้างพระอุโบสถวัดสนามจันทร์ แต่ยังขาดทุนทรัพย์ในการก่อสร้างเป็นจำนวนมาก จึงคิดสร้าง "เหรียญรูปเหมือน" ขึ้น เพื่อเป็นที่ระลึกแก่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทุนทรัพย์ช่วยให้การก่อสร้างสำเร็จลุล่วง ในการนี้ได้รับความร่วมมือจากบรรดาลูกศิษย์ลูกหา โดยได้นำแผ่นทองแดงสำหรับจารอักขระเลขยันต์ไปให้พระเกจิอาจารย์ชื่อดังในยุคนั้นร่วมกุศลจิตในการลงอักขระเลขยันต์ เพื่อเป็นชนวนมวลสาร อาทิ หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม, หลวงพ่อคง วัดซำป่างาม, หลวงพ่อดิ่ง วัดบางวัว, หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ, หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา, หลวงพ่อเสือ วัดสามกอ และหลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก เป็นต้น ร่วมกับพระเกจิอาจารย์อีกหลายๆ รูป
นอกจากนี้ พิธีปลุกเสกที่จัดขึ้นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2481 ซึ่งเป็นวันฝังลูกนิมิตของพระอุโบสถหลังที่จะสร้าง ก็ได้นิมนต์พระเกจิ ผู้มีชื่อเสียงมาร่วมปลุกเสกถึง 9 รูป คือ พระพุทธรังสีมุนีวงศ์ (โฮ้ว) เจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา, พระสันทัดธรรมาจารย์ เจ้าคณะจังหวัดปราจีนบุรี, หลวงพ่อพูน วัดตาล้อม ชลบุรี, หลวงพ่อศรี วัดพนัสนิคม ชลบุรี, หลวงพ่อดิ่ง วัดบางวัว ฉะเชิงเทรา, หลวงพ่อเสือ วัดสามกอ ฉะเชิงเทรา, หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก ฉะเชิงเทรา และหลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา ปราจีนบุรี จากนั้นพระอุปัชฌาย์คำได้นำมาปลุกเสกต่อที่กุฏิอีก 1 พรรษา จึงนับได้ว่า "เหรียญรูปเหมือนพระอุปัชฌาย์คำ ปี 2481" เป็นวัตถุมงคลชิ้นเอกในยุคนั้นทีเดียว
เหรียญรูปเหมือนพระอุปัชฌาย์คำ ปี 2481 สร้างเป็นเนื้อทองแดง ลักษณะเป็นเหรียญรูปอาร์ม หูในตัว ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนพระอุปัชฌาย์คำ และจารึกอักษรไทยด้านบนว่า "พระอุปัชฌาย์คำ" ด้านล่างจารึกว่า "พรหมสุวณฺณ" ด้านหลัง เป็นยันต์ตรีนิสิงเห มีอักษรไทยกำกับว่า "ที่ระลึก ในการฝังลูกนิมิตร์ วัดสนามจันทร์ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ๒๔/๑๑/๘๑" โดยแบ่งออกเป็น 2 พิมพ์ คือ พิมพ์ยันต์ใหญ่ (พิมพ์นิยม) และพิมพ์ยันต์เล็ก
นอกจากนี้ มีสร้างพิเศษสำหรับแจกกรรมการเท่านั้น เป็น "เหรียญเนื้อเงิน พิมพ์ยันต์ใหญ่" เหรียญรูปเหมือนพระอุปัชฌาย์คำ ปี 2481 นี้ เป็นเหรียญเก่าแก่อันทรงคุณค่าที่น่าสะสมทีเดียว แต่ไม่ค่อยได้พบเห็นกันนัก อาจเป็นเพราะลูกศิษย์ลูกหาและผู้เก็บรักษาไว้ต่างหวงแหนและหาดูหาเช่ายากมากครับผม