กรมศิลปากรโดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จัดเสวนาวิชาการ “เล่าเรื่องของเล่น ของสะสม (ของจิ๋ว) เจ้านายในราชสำนัก” 18 ก.พ. นี้
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้ปรับปรุงการจัดแสดงนิทรรศการถาวรภายในพระตำหนักแดง ในหัวข้อเรื่องวิถีชีวิตของเด็กไทย และเปิดให้บริการประชาชนอย่างเป็นทางการแล้ว โดยมีส่วนจัดแสดงชุดเครื่องเล่น เครื่องเรือน และของใช้จำลอง ของพระบรมวงศานุวงศ์และเจ้านายในราชสำนัก ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมค่อนข้างมาก ทั้งรูปแบบ ขนาด วิธีทำ และผู้เป็นเจ้าของ จึงได้จัดการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “เล่าเรื่องของเล่นของสะสม (ของจิ๋ว) เจ้านายในราชสำนัก” เพื่อเผยแพร่ความรู้บางมุมมองของวิทยากรและทายาทผู้เป็นเจ้าของ ประกอบด้วยการบรรยายเรื่องขนบธรรมเนียมการสะสมของเล่น (ของจิ๋ว) เจ้านายในราชสำนัก วิทยากรโดย ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ การบรรยาย เรื่อง เล่าเรื่องของสะสม ของเล่น (ของจิ๋ว) ของคุณยายในวัง (เจ้าจอมเลียม ในรัชกาลที่ 5) วิทยากรโดย ทันตแพทย์หญิง พิมสวาท วัฒนศิริโรจน์ ดำเนินรายการโดย นายยุทธนาวรากร แสงอร่าม ภัณฑารักษ์ชำนาญการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ปัจจุบันพระตำหนักแดง จัดแสดงของสะสมส่วนตัวและผลงานประดิษฐ์ของเจ้าจอมเลียมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยของชิ้นเด่นที่น่าสนใจของเจ้าจอมเลียมคือ “บ้านตุ๊กตา” ซึ่งเป็นของที่ทำขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 7 เนื่องจากมีการตกแต่งด้วยรูปพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระราชินี สำหรับบ้านตุ๊กตาของเจ้าจอมเลียม เป็นเสมือนการจำลองการตกแต่งบ้านอย่างตะวันตก การออกแบบบ้านทำเป็นอาคารขนาดสามชั้นและมีบันไดอยู่ภายในบ้าน แตกต่างจากบ้านเรือนไทยแบบจารีต ที่มักจะทำเป็นบ้านยกใต้ถุนสูง ทำห้องน้ำ ห้องครัว รวมถึงบันไดแยกอยู่นอกเรือน อย่างไรก็ตาม ข้าวของเครื่องใช้แบบไทยยังมีปรากฏรวมอยู่ด้วย เช่น โอ่งเคลือบเขียว กระต่ายขูดมะพร้าว และภาชนะเครื่องจักสาน ดังนั้นบ้านตุ๊กตาจึงเป็นเสมือนการเปลี่ยนผ่านของแบบแผนการสร้างที่อยู่อาศัยในสังคมไทย จากแบบจารีตสู่แบบสมัยใหม่ที่รับอิทธิพลตะวันตก
สำหรับการเสวนาทางวิชาการเรื่อง “เล่าเรื่องของเล่น ของสะสม (ของจิ๋ว) เจ้านายในราชสำนัก” จัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ผู้สนใจร่วมเสวนาลงทะเบียนสำรองที่นั่งได้ที่ โทร. 0 2224 1333 และ 0 2224 1402 หรือชมผ่าน Facebook Live: กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม