เล่าความหลังสยามรัฐ / ทองแถม นาถจำนง: ข้อเขียนของคึกฤทธิ์ กับเหตุการณ์ทางการเมือง (4) สุกัญญา สุดบรรทัด เมื่อพูดว่า ข้อเขียนของคึกฤทธิ์มีอิทธิพล เราก็คงจะต้องตั้งคำถามกันต่อไป ว่ามีอิทธิพลอย่างไร ตอบได้ว่า อิทธิพลเหล่านั้นสามารถชี้ชัดได้ค่อนข้างจะเป็นรูปธรรม มันแสดงถึงการต่อสู้ขัดแย้งกับคณะรัฐบาลและเจ้าหน้าที่พนักงานการพิมพ์ ความกังวลที่หัวหน้ารัฐบาลมีต่อหนังสือพิมพ์สยามรัฐ จนถึงกับว่าแม้เมื่อหนีออกนอกประเทศไปแล้ว ก็ยังเขียนจดหมายมาเรียกร้องความเป็นธรรมจากหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ จดหมายจากผู้อ่านที่เขียนมาพร่ำรำพันความรู้สึกที่ถูกบีบคั้นทางการเมือง การปลุกเร้าทางข้อเขียนที่เป็นเงื่อนไขไปสู่การฟ้องคึกฤทธิ์ และการเดินขบวน ลองมาดูเหตุการณ์ต่างๆ ที่เป็นประเด็นที่บทความ “เก็บเล็กผสมน้อย” “คึกฤทธิ์” “ข้าวนอกนา” “ข้าวไกลนา” “ข้างสังเวียน” “ซอยสวนพลู” เก็บมาเขียน และสร้างอิทธิพลต่อผู้อ่าน กรณีต่อสู้กับรัฐบาลจอมพล ป.เมื่อออกสยามรัฐใหม่ๆ ข้อเขียนของคึกฤทธิ์ ยังเป็นฝ่ายรัฐบาล ซึ่งอันที่จริง คึกฤทธิ์ได้ร่วมรัฐบาลจอมพล ป.ถึง 2 ครั้ง ประชาชนคนอ่านนั้น เห็นได้ว่าอยากให้คึกฤทธิ์ต่อสู้เพื่อพวกเขา เกรงว่าคึกฤทธิ์จะไปเป็นสมัครพรรคพวกของรัฐบาล และไม่ได้มาเป็นปากเสียงของพวกเขาอีก ในวันที่ 9 กันยายน 2493 มีคนเขียนมาถามใน “ปัญหาประจำวัน” ว่า “รัฐบาลท่านจอมพลเป็นรัฐบาลที่ตัดสินใจในเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้อย่างรวดเร็วเสมอ และทุกครั้งท่านคิดไหมว่าอาจจะเกิดผิดพลาดได้ และทราบว่า อย่างอินเดีย พม่า ฟิลิปปินส์ เขาเป็นชาติที่ได้รับเอกราชทีหลังเรา แต่เขามีนโยบายแน่วแน่เป็นตัวของตัวเองได้เป็นอย่างดี” คึกฤทธิ์ชี้แจงให้ผู้อ่านทราบว่า ตัวเขานั้นมีความสนิทชิดเชื้อกับจอมพล ป.เป็นอย่างมาก ในตอนนี้ต้องปล่อยให้จอมพลบริหารประเทศไปก่อน แต่หากจอมพลทำอะไรไม่ถูกต้อง เขาก็จะอยู่นิ่งไม่ได้ เขาตอบว่า “คนทุกคนย่อมมีผิดพลาดได้เสมอ ฉะนั้น รัฐบาลจอมพลป.ก็อาจมีผิดพลาดได้บ้างเป็นธรรมดา นโยบายของอินเดีย พม่า และฟิลิปปินส์ ที่คุณอาจสรรเสริญว่าแน่วแน่เป็นตัวของตัวเองนั้นอาจผิดพลาดได้เหมือนกัน เพราะเนรูห์ หรือ ตะขิ่น นุ แกก็คนอย่างจอมพลเรานี่แหละ และดูเหมือนจะไม่น่าเอ็นดูเท่าจอมพลด้วยซ้ำ” เหตุการณ์บ้านเมืองในเวลานั้นกำลังคืบคลานเข้าสู่ยุค “ทมิฬ” ข้าวยากหมากแพง กรมตำรวจกำลังสร้างอิทธิพลล้นฟ้า ผู้คนพากันสาปแช่ง “ผู้กว้างขวาง” ขณะนั้นคึกฤทธิ์กล่าวว่า เขาพยายามรักษาความเป็นกลาง แต่ให้สัญญากับประชาชนว่าหากจอมพลทำผิดเมื่อไร “จะจัดการเอง” วันที่ 16 พฤศจิกายน 2493 มีคนเขียนมาถามว่า กล้าด่าจอมพลป.หรือไม่ คึกฤทธิ์ตอบว่า “ผมทำหนังสือพิมพ์ที่อยากจะให้เป็นกลางจริงๆ ฉะนั้น อะไรดีก็ต้องชม อะไรไม่ดีก็ต้องตำหนิ ผมต้องตอบอย่างนี้ ทั้งๆที่คุณห้ามอย่าเอาเปรียบ…การด่าคนนั้นง่ายที่สุด ใครๆ ก็ทำได้ ผมรู้ดีว่าคนส่วนมากกำลังเขม่นตำรวจ หาว่า “เบ่ง” บ้าง อะไรบ้าง แต่ถ้าตำรวจเล่นหนังดีก็บอกว่าดีอย่างนี้… ” “จอมพลนั้นไม่เคยกลัวมาเลย และต่อไปก็ไม่เชื่อว่าจะกลัว คนที่ชอบพอกัน พูดจาเล่นหัวหยอกล้อกันได้มาเป็นเวลาช้านานนั้น กลัวกันไม่ลงดอกคุณ ถ้าเห็นว่าจอมพลทำอะไรที่จะให้เสียหายกับบ้านเมืองจริงๆ เมื่อไรละก็ผมจัดการเอง พูดมากไปเดี๋ยวจะหาว่าคุยเขื่องอีกเท่านั้น” ภายใต้รัฐบาลจอมพล ป.เต็มไปด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร วันที่ 29 มิถุนายน 2494 เกิดกบฏแมนฮัตตัน โดย น.ต.มนัส จารุภา ใช้ปืนจี้จอมพลป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ไปควบคุมตัวไว้ในเรือรบหลวงศรีอยุธยา ขณะกำลังทำพิธีรับมอบเรือขุดแมนฮัตตัน แต่ฝ่ายรัฐบาลได้ปราบปรามจนราบคาบ จากนั้นรัฐบาลได้ตรวจตราสอดส่องหนังสือพิมพ์เป็นพิเศษ ตามประสาของรัฐบาลที่เริ่มจะมีความรู้สึกไม่มั่นคงในสถานะของตน และกลุ่มที่มักจะถูกควบคุมเป็นพิเศษก็คือหนังสือพิมพ์ ลวดลายแห่งเผด็จการเริ่มเผยโฉมเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ แม้สยามรัฐเองก็หนีไม่พ้นกระแสบีบคั้นนั้นๆ เมื่อรัฐบาลใช้อำนาจเผด็จการ คึกฤทธิ์เริ่มต่อต้าน แต่วิธีการของเขาดูออกจะแปลกประหลาด ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร คือ เขาต่อสู้ด้วยอารมณ์ขัน กระทบกระเทียบเปรียบเปรย จนกระแสบีบคั้นผ่านพ้นไป สยามรัฐก็กลับมาเขียนในรูปแบบปกติ