ลานบ้านกลางเมือง / บูรพา โชติช่วง: พิพิธภัณฑ์สึนามิบ้านน้ำเค็ม ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เปิดให้เข้าชมอย่างทางการไปเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว ความเป็นมาของการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สึนามิบ้านน้ำเค็มนั้น คงทราบกันดีจากเหตุการณ์พิบัติภัยสึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ในมหาสมุทรอินเดีย พื้นที่ชายฝั่งอันดามันของไทยรวมถึงบ้านน้ำเค็ม ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ได้รับผลกระทบรุนแรง เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน สำหรับชุมชนบ้านน้ำเค็มเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ สูง 5 – 7 เมตร โถมเข้าใส่ชุมชนซึ่งได้สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างมาก สิ่งที่เป็นร่องรอยหลักฐานสำคัญจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิบ้านน้ำเค็มในคราวนั้น นอกจากสิ่งของต่างๆ ที่นำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แล้ว เรือประมงขนาดใหญ่ 2 ลำ ที่ตั้งอยู่พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง “เรือฟ้า ชื่อเรือโชคสิริพร 9 (เดิมชื่อกฤษณสาคร) ซึ่งเป็นเรืออวนล้อมจับ (เรืออวนดำ) กว้าง 6.20 เมตร ยาว 22.95 เมตร ลึก 3.20 เมตร รวม 94.60 ตันกรอสส์ 64.33 ตันเนต ถูกคลื่นยักษ์พัดจากแพปลาบ้านน้ำเค็ม ลอยลำตามกระแสน้ำเข้าสู่หมู่บ้าน และจอดสงบนิ่งบนเนินกลางหมู่บ้าน ห่างจากจุดที่ตั้งเรือปัจจุบันเล็กน้อย ในสภาพหัวเรือเกยอยู่บนชายคาบ้านหลังหนึ่ง และเรือส้ม ชื่อเรือศรีสมุทร (เดิมชื่อ ส.พรวิรัตน์) เป็นเรืออวนล้อมจับ (เรืออวนดำ) กว้าง 5.35 เมตร ลึก 2.40 เมตร ยาว 21.40 เมตร รวม 62.92 ตันกรอสส์ 42.79 ตันเนต ถูกคลื่นยักษ์พัดจากแพปลาบ้านน้ำเค็ม ไหลตามกระแสน้ำเชี่ยวกรากเข้าสู่หมู่บ้าน และจอดสงบนิ่งอยู่ริมถนนเลียบคลองบางม่วงกลางหมู่บ้านน้ำเค็ม รวมระยะทางเกือบ 1 กม. ที่เรือถูกคลื่นซัดเข้ามาบนฝั่ง กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดซื้อเรือ 2 ลำ แสดงให้เห็นร่องรอยหลักฐานสำคัญจากเหตุการณ์สึนามิ” (ข้อมูลสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพังงา) ในส่วนของวัตถุประสงค์การจัดสร้างพิพิธภัณฑ์สึนามิบ้านน้ำเค็ม ส่งเสริมให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านธรณีพิบัติภัยสึนามิ และเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานรำลึกถึงเหตุการณ์ความรุนแรงของพิบัติภัยสึนามิครั้งประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นกับชุมชนแห่งนี้ โดยองค์การบริหารส่วนตำบลบางม่วงได้จัดซื้อที่ดินจำนวน 5 ไร่ เพื่อรองรับการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์สึนามิ จากนั้นเคลื่อนย้ายเรือมายังพื้นที่ก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ ดำเนินการซ่อมแซมบูรณะให้กลับคืนสภาพเดิม และรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณผ่านกระทรวงวัฒนธรรมให้จังหวัดพังงาดำเนินการก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ ระหว่างปี 2560 – 2561 และจ้างตกแต่งภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ งบประมาณปี 2562 โดยในส่วนของการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมอาคารพิพิธภัณฑ์ “สอดผสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อเน้นความโดดเด่นและสำคัญของเรือทั้ง 2 ลำ โดยมีจุดหมายตาของพิพิธภัณฑ์เป็นหอชมทัศนียภาพของบริเวณบ้านน้ำเค็ม ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากเครื่องมือประมงพื้นบ้าน” (พรธรรม ธรรมวิมล ผู้อำนวยการกลุ่มสถาปัตยกรรม สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร) พิพิธภัณฑ์สึนามิบ้านน้ำเค็มเป็นอันสร้างเสร็จเรียบร้อย เปิดให้บริการอย่างทางการเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ชุมชน – ประชาชนจะได้อะไรจากการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์สึนามิบ้านน้ำเค็ม กลุ่มเป้าหมายเข้าเยี่ยมชมคือทุกเพศวัยและนักท่องเที่ยว โดยอาคารพิพิธภัณฑ์ออกแบบให้เป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ด้านภัยพิบัติและแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ซึ่งมีการหลอมรวมวิถีชีวิต สังคมของชุมชนเข้าไว้ด้วยกัน การเข้าชมจึงได้ทั้งความรู้ในด้านความรุนแรงของภัยธรรมชาติ การเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยธรรมชาติ องค์ความรู้ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการรับมือภัยพิบัติ เป็นต้น และได้ท่องเที่ยวในชุมชนบ้านน้ำเค็ม ซึ่งเป็นชุมชนวิถีประมง มีวิถีชีวิต วัฒนธรรมความเป็นอยู่ทั้งด้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประเพณี กลุ่มชาติพันธุ์ เป็นต้น ในส่วนของชุมชน พิพิธภัณฑ์สึนามิบ้านน้ำเค็มแห่งนี้เป็นของชุมชน คนในชุมชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมพัฒนาในทุกรูปแบบ เป็นศูนย์กลางจัดกิจกรรมของคนในชุมชน และจะนำไปสู่โอกาสของการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน และเกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่คนในชุมชนทุกมิติ นักท่องเที่ยวไปเที่ยวเขาหลัก ถัดไปอีกไม่กี่กิโลเมตรก็ถึงพิพิธภัณฑ์สึนามิบ้านน้ำเค็ม ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ชุมชนบ้านน้ำเค็ม ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา สถานที่ที่เรียนรู้ด้านธรณีพิบัติภัยสึนามิ และเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานรำลึกถึงเหตุการณ์ความรุนแรงของพิบัติภัยสึนามิครั้งประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นกับชุมชนแห่งนี้