นายฐิติ ยศอนันนตกุล นายกสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน(Thaifa) ได้ทำหนังสือถึงนายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย ขอให้พิจารณาทบทวนและแก้ไขแนวปฏิบัติการให้ความคุ้มครอง ตามสัญญาประกันสุขภาพ สำหรับผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า(COVID-19)ของบริษัทประกันชีวิต โดยระบุว่า ตามที่สมาคมประกันชีวิตไทยได้ออกประกาศแนวปฏิบัติการให้ความคุ้มครองตามสัญญาประกันสุขภาพ สำหรับผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อโควิด ของบริษัทประกันชีวิต โดยกำหนดแนวทางปฏิบัติการรับผู้ป่วยโควิด ที่จะเข้าเป็นผู้ป่วยใน ในโรงพยาบาลจะต้องมีความจำเป็นทางการแพทย์และมาตรฐานทางการแพทย์ ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข “ข้อใดข้อหนึ่ง”ดังนี้ 1.เมื่อมีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ระยะเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง 2.หายใจเร็วกว่า 25 ครั้งต่อนาที ในผู้ใหญ่ 3.Oxygen Saturation ต่ำกว่า 94% 4.โรคประจำตัวที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ตามดุลยพินิจ ของแพทย์ 5.สำหรับในเด็ก หากมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือทานอาหารน้อยลง จากประกาศดังกล่าวข้างต้น ได้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อต่างๆทั้งทางทีวี FACEBOOK LINE ข่าวออนไลน์ ทำให้ผู้เอาประกันเกิดความไม่มั่นใจ ในการซื้อประกันสุขภาพ ว่าจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขการทำประกัน สมาคมตัวแทนฯมิได้นิ่งนอนใจในความกังวลของผู้เอาประกันภัย จึงได้จัดประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เมื่อวันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 โดยสรุปในข้อหารือความว่า “ถึงแม้ว่า การติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 20119 (COVID19) มีระดับความรุนแรงน้อยลง แต่ยังไม่มีข้อมูลรองรับในผลกระทบระยะยาว หลังจากหายป่วย หรือภาวะที่เรียกว่า “โควิดระยะยาว” (Long COVID) ซึ่งความรุนแรง ดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในการรักษา” ที่ประชุมคณะกรรมการสมาคมตัวแทนประกันชีวิตฯมีความเห็นว่า “ควรให้บริษัทประกันชีวิตให้ความคุ้มครองผู้เอาประกันตามเงื่อนไขที่ระบุในกรมธรรม์ เมื่อผู้เอาประกันภัยเจ็บป่วย เป็นเหตุให้ต้องเข้าพักรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลตามคำนิยามที่ให้ไว้ โดยคำแนะนำของแพทย์ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะ ซึ่งต้องมิใช่ผู้เอาประกันภัยเอง เมื่อได้รับและเห็นชอบในหลักฐานต่างๆแล้ว ขอให้บริษัทจ่ายผลประโยชน์ค่ารักษาพยาบาลและ/หรือค่าชดเชยรายวัน ตามจำนวนเงินแสดงไว้ในหน้ารายละเอียดเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งเป็นเงื่อนไขปกติที่ผู้เอาประกันภัยพึงได้รับ ไม่จำเป็นต้องระบุการเข้าเงื่อนไข “ข้อใดข้อหนึ่ง” ในข้อกำหนด 5 ข้อดังกล่าวข้างต้น ซึ่งไม่ได้ระบุไว้ในกรมธรรม์” คณะกรรมการสมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน จึงมีมติให้ทำหนังสือชี้แจงเพื่อให้ทางสมาคมประกันชีวิตไทย พิจารณาทบทวนและแก้ไขประกาศดังกล่าว เพื่อให้ผู้เอาประกันมีความมั่นใจในการทำประกันสุขภาพว่าจะได้รับความคุ้มครอง ตามที่ตกลงไว้