วันที่ 5 ก.พ.65 ดร.เสกสรร นิยมเพ็ง นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ กล่าวว่า เสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบูรณ์ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเป็นจุดรวมใจรวมศรัทธาของคนเพชรบูรณ์ที่มากราบไหว้ขอพรบนบานศาลกล่าวได้ตามที่ปรารถนา ข้าราชการและคนทั่วไป เมื่อเดินทางมาถึงเมืองเพชรบูรณ์ก็จะต้องมากราบสักการะศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบูรณ์เป็นอันดับแรก เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์จึงได้ร่วมกับสภาวัฒนธรรมเทศบาลฯ มูลนิธิศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบูรณ์ และพุทธศีลธรรมสมาคมผู้เสียสละเพชรบูรณ์ จัดงานสมโภช 1001 ปี ศรีหลักเมืองเพชรบูรณ์ ณ ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบูรณ์ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 7 มีนาคม 2565 โดยได้กำหนดจัด 6 พิธีสำคัญ ประกอบด้วย พิธีเจริญพระพุทธมนต์ พิธีบวงสรวงทางพราหมณ์ พิธีสักการะทางจีน พิธีสืบชะตาเมืองแบบล้านนา พิธีสู่ขวัญเมืองแบบล้านช้างและพิธีรำสมโภช 1001 ปี ศรีหลักเมืองเพชรบูรณ์โดยทุกค่ำคืนมีการแสดงมหรสพฉลองสมโภช การแสดงสินค้า คอนเสิร์ตทั้ง 9 วัน 9 คืน จากบันทึกการขึ้นทะเบียนโบราณสถานโบราณวัตถุของกรมศิลปากร สันนิษฐานได้ว่า ศิลาจารึกนี้ ครั้งแรกน่าจะถูกนำมาจากเมืองโบราณศรีเทพ มาไว้ที่วัดมหาธาตุก่อน หลังจากนั้น ก็ได้นำมายกเป็นเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ โดยหลวงนิกรเกียรติคุณ เมื่อ พ.ศ. 2443 โดยได้เลือกนำมาปักไว้ที่ป้อมกำแพงเมืองทิศตะวันตกเฉียงใต้ของแนวกำแพงเมืองโบราณ เพราะเป็นบริเวณที่อยู่หน้าศาลากลางจังหวัด เมื่อ พ.ศ.2548 เมื่อมีการปรับปรุงก่อสร้างอาคารศาลหลักเมืองครั้งใหญ่ ได้มีการค้นพบว่า เสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ เป็นศิลาจารึก ทำด้วยแท่งเสาหินทรายสีเทา มีลักษณะปลายป้านโค้งมน มีความสูงจากฐานล่างถึงปลายยอด 185 เซนติเมตร กว้าง 30 เซนติเมตร ความหนาประมาณ 15-16 เซนติเมตร ปลายฐานด้านล่างสุดมีลักษณะแผ่ขยายออกคล้ายวงกลมแบน ทั้งนี้ กรมศิลปากรได้ทำการอ่านและแปลศิลาจารึกเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้วโดยสรุปได้ความว่า เป็นการจารึกลงในเสาหินใน 2 ยุคด้วยกัน คือ ครั้งแรกเป็นการจารึกในด้านที่ 1 เป็นอักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤต มีข้อความ 22 บรรทัด จารึกเมื่อมหาศักราช 943 ตรงกับพุทธศักราช 1564 เป็นข้อความการสรรเสริญพระศิวะในศาสนาพราหมณ์ ส่วนการจารึกครั้งที่ 2 เป็นการจารึกใหม่ในด้าน 3 ด้านที่เหลือ เมื่อจุลศักราช 878 ตรงกับพุทธศักราช 2509 เป็นอักษรขอม ภาษาไทย บาลีและเขมร เป็นข้อความเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา และมีข้อความที่ให้ช่วยกันสืบสานพระพุทธศาสนาให้ได้ 5,000 ปี โดยการนับระยะเวลาอายุของแท่งหินที่เป็นเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์นี้เริ่มตั้งแต่มีการแกะสลักโดยมนุษย์ ตั้งแต่มีการสลักหินออกมาเป็นแท่งจนมีการจารึกตัวอักษรบนแท่งหินในครั้งแรก ซึ่งก็น่าจะใช้เวลายาวนานพอสมควรไม่อาจกำหนดวันเดือนที่แน่นอนได้ จึงใช้การนับเวลาอายุแท่งศิลานี้แบบปีชนปีคือเมื่อมีบันทึกว่ามีการแกะสลักครั้งแรก พ.ศ. 1564 เมื่อเวลาเวียนมาถึง พ.ศ. 2565 ก็จะชน 1001 ปี เป็นครบวงรอบปีพอดี ทั้งนี้การจัดงานจัดขึ้นตามแนวทางปฏิบัติด้านสาธารณสุขเพื่อการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา-2019